วิเคราะห์เรื่องสั้น "ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย"
ของ วิทยากร เชียงกูล
1. วิทยากร เชียงกูล กับยุคแห่งการแสวงหา
หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ.2501 ถือเป็นยุคมืดทางพุทธิปัญญา โดยเฉพาะในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เรืองอำนาจ (2501-2506) มีการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงด้วยข้อหา มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ นักคิดนักเขียนก้าวหน้าในช่วงทศวรรษ 2590 จำนวนมากถูกจับ มีบางคนลี้ภัยไปต่างประเทศ และบางคนถูกสังหาร ดังนั้นหลังการรัฐประหาร 2501 จึงถือเป็นยุคมืดอย่างแท้จริง นักเขียนก้าวหน้าจำนวนมากหยุดงานเขียนของตน บางคนจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวในการเขียน งานเขียนที่ได้รับความนิยมมากในยุคนี้มักเป็นประเภทแม่ผัวลูกสะใภ้ หรือประเภทบู๊ล้างผลาญ ด้านร้อยกรองก็จะเป็นประเภท “กลอนหวาน-กลอนรัก” เป็นหลัก งานเขียนประเภทเรื่องสั้นก็มักเป็นเรื่องประเภทหักมุมจบ ที่เน้นกลวิธีการแต่งที่สร้างความเร้าใจให้กับผู้อ่านมากกว่าเนื้อหาหรือความคิด
หลัง พ.ศ.2506 อันเป็นปีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอมขึ้นสืบอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา สภาพทางการเมืองก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่การเปิดโปงการทุจริตของจอมสฤษดิ์อาจไม่มีผลต่อฐานะทางการเมืองของจอมพลถนอมมากนักจึงไม่มีการขัดขวาง ทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของระบบเผด็จการมากขึ้น ขณะเดียวกันจอมพลถนอมก็เริ่มตระหนักถึงฐานะของตนเองหากไม่มีการผ่อนปรนบ้าง ดังนั้นถึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน(โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์)ได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองได้มากขึ้น การออกนิตยสารรายเดือน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ฉบับแรกในเดือนมิถุนายน 2506 โดยมีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ อาจถือได้ว่าเป็นการจุดประกายของยุคแห่งการแสวงหาได้อย่างชัดเจน เป็นการจุดประกายในกับหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยได้ตั้งคำถามกับตนเองทั้งทางด้านการศึกษาและบทบาทหน้าที่ในสังคม แต่จะอย่างไรก็ตามการเมืองก็ยังมิได้เปิดกว้างให้ประชาชนได้มีอิสระในการแสวงความคิดเห็นอย่างเต็มที่นัก การปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกันฝ่ายรัฐบาลยังคงมีอยู่ การเขียนแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการเมืองในยุคนี้จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบที่ค่อนข้างซับซ้อน มีการใช้สัญลักษณ์ในงานเขียนค่อนข้างมาก ลักษณะโดยทั่วไปของวรรณกรรมในยุคนี้แบ่งเป็น 2 แนวค่อนข้างชัดเจน แนวหนึ่งคือวรรณกรรมแนวทางรุ่งเรืองในยุคมืดซึ่งยังคงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง ส่วนอีกแนวจะเป็นวรรณกรรมในกลุ่มที่เรียกรวมๆ ว่า“วรรณกรรมแสวงหา”ซึ่งเป็นผลงานของปัญญาชนในมหาวิทยาลัยและผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาไม่นานนัก (ส่วนหนึ่งได้รวมกลุ่มกันเป็น กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว) ผลงานวรรณกรรมที่สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่รวมเรื่องสั้นและบทกวี “ความเงียบ” ของสุชาติ สวัสดิศรี งานเรื่องสั้นของนิคม รายวา ตั๊ก วงศ์รัฐ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ สุรชัย จันทิมาธร เรื่องสั้นและบทกวี “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูล เป็นต้น
ในราวปี พ.ศ.2515 เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่ม “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัย กลุ่มนี้ได้เริ่มนำเอาผลงานเขียน งานวิจารณ์ ของนักคิดนักเขียนในช่วงทศวรรษ 2490 มาตีพิมพ์เผยแพร่ รวมทั้งได้ออกวารสาร “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” เพื่อเผยแพร่ความทางสังคมและวรรณกรรมแนวสัจสังคมนิยมด้วย ทำให้“วรรณกรรมเพื่อชีวิต”เป็นที่นิยมในหมู่ปัญญาชนมากขึ้นตามลำดับ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคแสวงหานี้ ปัญญาชนนอกและ/หรือในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยเริ่มรับเอาแนวคิดบางแนวคิดและรูปแบบวรรณกรรมใหม่ๆ จากตะวันตกเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือแนวคิดปรัชญาเอ็กซิสตองเชียลลิสม์ และรูปแบบเรื่องสั้นและบทละครสมัยใหม่
“การแสวงหา” ในยุคนี้มีทั้งการแสวงหาทางด้านรูปแบบและเนื้อหา ดังจะพบว่า ในด้านกวีนิพนธ์นั้น มีการนำเอารูปแบบ“กลอนเปล่า”มาใช้อย่างแพร่หลาย (ในขณะที่“นักกลอน”จะเน้น“กลอนแปด” ตามแบบของสุนทรภู่เป็นหลัก) ทางด้านเรื่องสั้นก็ไม่ยึดตามแบบ “สูตรสำเร็จ” ประเภท “หักมุมจบ” เป็นหลัก แต่จะเน้นการบรรยายแบบ“กระแสสำนึก” นอกจากนั้นก็ยังเริ่มใช้รูปแบบ “บทละคร” ในการนำเสนอความคิดใหม่อีกด้วย ซึ่งบทละครเหล่านี้อาจมีทั้งที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงละครจริงๆ และเขียนเพื่อการอ่านเท่านั้น
ในยุคแห่งการแสวงหานี้ ถือได้ว่าวิทยากร เชียงกูล คือหนึ่งในปัญญาชนของยุคนั้นที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง วิทยากรจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2512 และเริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับวงวรรณกรรมโดยการเป็นนักวิชาการ นักเขียน และกองบรรณาธิการของนิตยสารในเครือของบริษัทไทยวัฒนาพานิช วิทยากรเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่คณะเศรษฐศาสตร์และเริ่มแสดงความรู้สึกไม่พอใจระบบการศึกษา เริ่มแสวงหาสิ่งที่ตนเห็นว่าดีกว่าสำหรับชีวิตและสังคมในราวปีแรกที่เริ่มเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย(พ.ศ.2508) โดยการเขียนบทกวีและเรื่องสั้นลงพิมพ์ในหนังสือของมหาวิทยาลัย บทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ซึ่งตีพิมพ์ใน “ยูงทอง วันสถาปนา” ในปี 2511 ถือเป็นบทกวีที่ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง ดังในตอนหนึ่งของกวีชิ้นนี้ที่ว่า
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
ที่ได้กลายเป็น “วรรคทอง” ที่ยังคงได้รับการจดจำ กล่าวขวัญถึงมาจนกระทั่งปัจจุบัน
วิทยาการอาจมีผลงานวรรณกรรมเพียงไม่กี่ชิ้น อันได้แก่ บทกวีและเรื่องสั้นชุด “ฉันจึงมาหาความหมาย” (ได้รับตีพิมพ์ซ้ำกว่า 10 ครั้ง) รวมเรื่องสั้น “ฝันของเด็กชายชาวนา” และนวนิยาย “ฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง” นอกจากนี้ก็มีผลงานแปลวรรณกรรมต่างประเทศอีกหลายชิ้น เช่น บทกวีเพื่อผ็ถูกกดขี่ เธอคือชีวิต(นวนิยายของนักเขียนรัสเซีย), เรือนรก (นวนิยายนักเขียนญี่ปุ่น), กวีแห่งอาเซียน, แด่ความจนและความโง่เขลา (รวมเรื่องสั้นของนักเขียนจาก 6 ทวีป) และ น้ำพุแห่งความขมขื่น (นวนิยายของนักเขียนอิตาลี) เป็นต้น
ผลงานส่วนใหญ่ของวิทยากรจะเป็นงานทางด้านบทความและหนังสือวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง และบทความด้านวรรณกรรมซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และทำงานติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน
ปัจจุบันวิทยากร เชียงกูล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับรางวัล “ศรีบูรพา” ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้กับ “นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ สารคดี เรื่องแปล และหรือกวีนิพนธ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลงาน’ทรงคุณค่าแก่สังคมและมนุษยชาติ’ และมีผลงานยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน” ในปี พ.ศ.2541.
สำหรับหนังสือรวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทละคร ชุด “ฉันจึงมาหาความหมาย” เป็นที่ยอมรับกับโดยทั่วไปว่า “เป็นเสมือนหนึ่ง ‘คัมภีร์’ แสวงหาของคนหนุ่มสาวผู้มีความคิดขบถ-ปฏิเสธระบบการศึกษาที่มุ่งสอนให้คน ‘เชื่อ’ มากกว่า ‘คิด’ เป็น “หนังสือที่ได้รับการคัดเลือก หนึ่งในหนังสือดีจำนวน 100 เล่ม ที่คนไทยควรจะได้อ่าน โดยคณะวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)”
“ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” เป็นงานเรื่องสั้นในชุด “ฉันจึงมาหาความหมาย” ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เด่นเรื่องหนึ่งที่สามารถเป็นตัวแทนของยุคสมัยแห่งการแสวงหา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเขียนเรื่องสั้นที่ให้ความสนใจต่อกลวิธีการเขียนแบบใหม่ที่มิใช่ประเภทหักมุมจบและพัฒนาเนื้อหาไปในทางแสดงความแปลกแยกกับสังคม เป็นเรื่องสั้นที่แสดงถึงความคิด ปรัชญา ของผู้แต่งที่มุ่งแสวงหาสิ่งที่ตนคิดว่าดีงามสำหรับตนเองและสังคมในยุคที่เมืองไทยตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่สะท้อนให้เห็นถึงสังคมและความคิดที่มีต่อสังคมของนักเขียนในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน
เพื่อให้สามารถเข้าถึงความคิดในเรื่อง “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” ได้อย่างแจ่มชัด จึงขอกล่าวถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้ในรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเรื่องสั้น ดังนี้
2.โครงเรื่อง
โครงเรื่อง (plot) ได้แก่การผูกเค้าโครงของพฤติกรรมหรือสร้างเหตุการณ์เพื่อเป็นแนวให้เนื่องเรื่องดำเนินตามโครงเรื่องนั้น เป็นการสร้างเรื่องอย่างคร่าวๆ ส่วนเนื้อเรื่องคือรายละเอียด โครงเรื่องส่วนใหญ่มักประกอบด้วยองค์ประกอบสองส่วนคือ ความต้องการหรือความปรารถนาของตัวละครอย่างหนึ่ง กับปัญหาหรืออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ตัวละครบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ลักษณะของโครงเรื่องของเรื่องสั้นและนวนิยายโดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง คือ โครงเรื่องแบบเก่าและโครงเรื่องแบบใหม่
2.1 โครงเรื่องแบบเก่า เป็นโครงเรื่องที่เน้นความสำคัญของเหตุการณ์และการลำดับเหตุการณ์โดยมีตัวละครเอกเป็นผู้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์และปมปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้ง และพัฒนาไปสู่จุดวิกฤต (Climax) ซึ่งตัวละครจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นเหตุการณ์ก็จะคลี่คลายไปสู่จุดจบ โครงเรื่องแบบเก่านี้มักประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ส่วน คือ
2.1.1 เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญ
2.1.2 ตัวละคร คือผู้ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ มีแรงจูงใจในการกระทำเพื่อต่อสู้ดิ้นรนในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา
2.1.3 พฤติกรรมหรือการกระทำของตัวละครที่เกิดจากแรงจูงใจ
2.1.4 อุปสรรคหรือข้อขัดแย้งที่เกิดจากสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ตัวละครต้องแก้ไขและต่อสู้ อุปสรรคดังกล่าว ความขัดแย้งนี้อาจแบ่งเป็นความขัดแย้งภายในที่เกิดจากภายในจิตใจของตัวละคร ความขัดแย้งภายนอกที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครกับบุคคลอื่นหรือระหว่างตัวละครกับสภาพแวดล้อม และความขัดแย้งหลักอันเป็นความขัดแย้งที่เป็นหลักสำคัญของเรื่อง
2.2 โครงเรื่องแบบใหม่ เป็นโครงเรื่องที่ไม่เน้นความสำคัญและความสัมพันธ์ของลำดับเหตุการณ์ แต่เน้นที่พฤติกรรมและสภาพความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเป็นสำคัญ โครงเรื่องแบบนี้บางครั้งเรียกว่าโครงเรื่องแบบเปิด(Open Plot) เพราะเป็นโครงเรื่องที่ไม่มีข้อยุติตายตัวเหมือนโครงเรื่องแบบเก่า
เมื่อพิจารณาโครงเรื่องของเรื่องสั้น “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” จะพบว่าเป็นโครงเรื่องแบบใหม่ มีการสร้างปมปัญหาและพัฒนาไปสู่จุดวิกฤติ(Climax) อันจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของตัวละคร โดยตัวละคร “ฉัน” พบว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจึงคิดฆ่าตัวตายที่สะพานแห่งหนึ่ง แต่เมื่อ “ฉัน”พบว่ามีคนจำนวนมากคิดเอารัดเอาเปรียบและเอาประโยชน์จากการฆ่าตัวตายของ “ฉัน” “ฉัน” จึงเลิกล้มความคิดฆ่าตัวตายเป็นการแก้แค้นคนเหล่านั้น การที่ตัวละคร “ฉัน” พบว่าคนที่มุงดูกำลังเอารัดเอาเปรียบเขาอาจจะถือเป็นจุดวิกฤติของเรื่องที่นำไปสู่การเลิกล้มความคิดฆ่าตัวตายอันเป็นการคลี่คลายเรื่อง โครงเรื่องนี้หากพิจารณาไม่ละเอียด อาจจะดูคล้ายโครงเรื่องแบบเก่า แต่เราจะพบว่าผู้เขียนเน้นมุ่งขมวดและคลี่คลายปมเพื่อให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจมากนัก เป็นเพียงเล่าเรื่องอย่างเรียบเรื่อยจนบางครั้งดูน่าเบื่อด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะเป้าหมายหลักของผู้เขียนมิได้เน้นที่โรงเรื่อง แต่จะเน้นที่ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครมากกว่า
ดังนั้น โครงเรื่องของ“ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” จึงไม่เน้นความสำคัญและความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ แต่จะเน้นที่พฤติกรรมและสภาพความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเป็นสำคัญ เป็นโครงเรื่องในลักษณะของวรรณกรรมแนว “แอบเสิร์ด” (absurd) มีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับแบบแผนที่เคยมีมา คือ เหตุการณ์ในเรื่องไม่สัมพันธ์กัน ไม่เสนอเรื่องไปตามลำดับจากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดจบ ไม่มีปัญหาที่สร้างความเร้าใจให้กับผู้อ่าน เราจะพบว่าวิทยากรเขียนเรื่องนี้อย่างเรียบเรื่อยคล้ายๆ กับเป็นเพียงการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนนึกอยากจะเล่าเหตุการณ์ตอนไหนก่อนหรือหลังก็ได้ ขณะที่เรื่องดำเนินไปก็อาจจะแทรกเหตุการณ์หรือความรู้สึกของตัวละครเข้ามาอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีจุดที่เป็น Climax ที่แน่ชัดและสามารถเร้าใจผู้อ่านเพื่อคลี่คลายไปสู่จุดจบ การจบเรื่องที่ “ฉัน” เลิกล้มการฆ่าตัวตายเพื่อแก้แค้นคนที่มามุงดู แม้อาจจะดูคล้ายกับจะเป็นการ “หักมุมจบ” ตามเรื่องสั้นแบบเก่า แต่ก็ไม่น่าจะถือเป็นการหักมุม เพราะการดำเนินเรื่องที่เรียบเรื่อยไม่ได้เร้าใจให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกผิดความคาดหมายที่ตัวละครไม่ฆ่าตัวตายแม้แต่น้อย
3.แนวคิด
แนวคิดหรือแก่นเรื่องของเรื่องสั้นเรื่องนี้จัดเป็นแก่นเรื่องประเภทเสนอความคิดและพฤติกรรมของตัวละครที่คลี่คลายมาจากความรู้สึกนึกคิดและอารามณ์ แนวคิดหลักที่วิทยากรต้องการเสนอเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญา “เมื่อฉันคิดอะไรไม่ออก ฉันก็เลยหาเหตุผลที่จะอยู่ต่อไปไม่ได้” ซึ่งเป็นความคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักเขียนนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้ปฏิเสธรางวัลโนเบล ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเขียนรุ่นใหม่ในยุคแสวงหา(ทศวรรษ 2510) ซาร์ตร์ถือว่าความเป็นมนุษย์มีลักษณะที่ปรากฏชัดให้ศึกษาอยู่ 3 ประการ คือ
1. เป็นความรู้สึกสำนึก คือ ความรู้สึกสำนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว แล้วแยกตัวเองออกจากสิ่งเหล่านั้น
2. เป็นความว่าง เมื่อทุกสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ล้วนอยู่นอกตัวความรู้สึก ทำให้มนุษย์เห็นว่าตัวความรู้สึกสำนึกนั้นกลายเป็นโพรงว่างๆ ท่ามกลางวัตถุต่างๆ เป็นความว่างเปล่าไม่มีอะไร ดังนั้น“ฉัน”จึงเห็นว่า “ฉันมองไม่เห็นเลยว่ามีเหตุผลอะไรที่ฉันควรจะอยู่ต่อไป และฉันก็ไม่รู้ว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร”
3. เป็นความเสรี เมื่อมันไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร มนุษย์จึงมีอิสระเสรีเพราะไม่มีอะไรมากำหนด ดังนั้น“ฉัน”จึงมีเสรีที่จะฆ่าตัวตายและไม่ฆ่าตัวตาย
แก่นเรื่องของ“ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย”แสดงให้เห็นว่า“ฉัน”เลือกที่จะฆ่าตัวตายเพราะฉันเห็นว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยที่ความไม่มีเหตุผลนี้ถูกกำหนดโดยสังคมที่ทำให้มนุษย์(หรือ”ฉัน”)ไม่มีอิสระ ไม่มีเสรีในตัวของตัวเอง แต่เมื่อ“ฉัน”พบว่าในการฆ่าตัวตายนั้น มี “คน”ในสังคมคิดแสวงหาประโยชน์ “ฉัน”จึงเลิกล้มการฆ่าตัวตายเพื่อให้คนเหล่านั้นผิดหวัง “สะพาน”ในเรื่องนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็นตัวเชื่อมต่อความคิดเก่ากับความคิดใหม่ การฆ่าตัวตายของ”ฉัน” จึงเป็น“การฆ่าตัวตนเก่าทิ้งไป” เพราะเมื่อ”ฉัน”กลับลงมาถึงข้างล่าง “ฉัน”ก็พบว่า“ทัศนคติของฉันกลับเปลี่ยนไปอีกรูปหนึ่ง” ซึ่งผู้เขียนไม่ได้บอกไว้อย่างชัดเจน แต่ผู้อ่านจะต้อง“คิดต่อ”หาข้อสรุปเอาเองว่าทัศนคติของ“ฉัน”เปลี่ยนไปอย่างไร อันเป็นลักษณะสำคัญของโครงเรื่องแบบเปิดหรือโครงเรื่องแบบใหม่ ที่ปล่อยให้ผู้อ่านคิดเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไปเอาเอง
ในการนำเสนอ วิทยากรใช้กลวิธีนำเสนอผ่านพฤติกรรมและการบอกเล่าความคิดของตัวละคร“ฉัน” ซึ่งถือว่าสามารถทำได้ดีทั้งในแง่ของการสร้างภาวะความรู้สึกไร้เหตุผล ความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวและพฤติกรรมที่สอดคล้องต้องกันของตัวละคร “ฉัน”
4.เนื้อเรื่องย่อ
ตัวละคร “ฉัน” เกิดความรู้สึก “ฉันมองไม่เห็นเลยว่า มีเหตุผลอะไรทีฉันควรจะอยู่ต่อไปอีก และฉันก็ไม่รู้เลยว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” แม้“ฉัน”พยายามที่จะหาเหตุผลให้กับการมีชีวิตอยู่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามได้ ทำให้เกิดความรู้สึกเงียบเหงาแปลกแยกต่อตัวเองและสังคม นำไปสู่การตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย “ฉัน”จึงเดินทางไปยังสะพานแห่งหนึ่งเพื่อกระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตาย แต่เมื่อ“ฉัน”ปีนขึ้นไปบนสะพานเพื่อกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย ก็พบว่ามีคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทั้งนักข่าวหนังสือพิมพ์ พ่อค้าหาบเร่ นักเรียน พระหนุ่ม หญิงสาว ตำรวจ กำลังมองดูการฆ่าตัวตายของ“ฉัน”ด้วยแววตาที่มีจุดประสงค์ต่างกัน ซึ่ง“ฉัน”พบว่าล้วนเป็นแววตาที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบหรือแม้กระทั่ง “การได้สนุกกับความตายของฉัน” ทำให้“ฉัน”เลิกล้มความคิดฆ่าตัวตายเพื่อเป็นการแก้แค้นคนเหล่านั้น
5.ฉาก
ฉากที่สำคัญในเรื่องนี้มี 2 ฉากสำคัญ คือ ฉากที่เป็นถนนในเมืองใหญ่และสะพานข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งอันเป็น “เป็นสะพานเก่าแก่ที่มีความยิ่งใหญ่และสวยงามอยู่ไม่น้อย”(หน้า 64) การสร้างฉากของผู้เขียนจะไม่เน้นให้เกิดสมจริงหรือความชัดเจนแต่ประการใด แต่จะมุ่งเน้นเพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมากกว่า ดังที่ผู้เขียนแสดงไว้ในตอนที่ “ฉัน” กำลังเดินทางไปสู่สะพานว่า
“ฉันเริ่มส่ายตาหาที่เหมาะๆ ขณะที่ย่ำไป มีอาคารคอนกรีตสูงๆ อยู่ถมเถ แต่รูปร่างที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมแข็งและหยาบของมันทำให้ดูไม่น่าจะใช้เป็นที่สำหรับการกล่าวอำลาเลย…
“ฉันเปลี่ยนเส้นทางเดินมุ่งไปทางสะพานข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งฉันคุ้นเคยกับมันดี เป็นสะพานเก่าแก่ที่มีความยิ่งใหญ่และสวยงามอยู่ไม่น้อย ฉันคิดว่ามันคงเป็นที่ที่ดีที่สุดที่จะหาได้ในเมืองอันน่าเกลียดเมืองนี้ ฉันเดินไป เดินไป และก็ช่างประหลาดอะไรอย่างนั้น ใจฉันสงบมากกว่าที่เคยนึกไว้เสียอีก ฉันลืมความหิวไปแล้ว จะรู้สึกก็แต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น มันคงจะน่าอับอายไม่น้อย ถ้าจะต้องมาเป็นลมล้มระหว่างที่เดินไปสู่ความตายอันยิ่งใหญ่กว่ากันมากนัก---
“ช่างมีรถในถนนมากมายเสียนี่กระไร …”(หน้า 64)
ซึ่งสามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของถนนและสะพานในเมืองได้ชัดเจนพอสมควร แต่นั่นมิใช่สิ่งที่ผู้เขียนเน้น สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเน้น คือ อารมณ์และความรู้สึกของตัวละครที่กำลังแสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะที่กำลังเดินทางไปสู่ความตาย ความไม่สมจริงที่อาจปรากฏให้เห็น เช่น ผู้เขียนกล่าวถึงการเดินทางไปสู่สะพานว่าบนถนนไปสู่สะพานนั้น “มีรถในถนนมากมายเสียนี่กระไร” แต่ที่สะพานกลับ “ปลอดคน” ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นความบกพร่องของผู้เขียน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อก็คือความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว(ที่มีจะอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมากก็มีความรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่คนเดียว) ในถนนมีรถยนต์มากมายแต่ภายในรถยนต์กลับมีแต่ที่ว่าง “คน”ที่ขับรถอยู่ก็“เป็นเหมือนรถยนต์ที่เขาขับมานั่นแหละ เป็นอยู่และเคลื่อนไหวได้โดยอัตโนมัติเท่านั้น” (หน้า 65) ส่วน “คน” ซึ่งมามุงดู“ฉัน” ที่ปรากฏในฉากสะพานที่ฉันกำลังจะ“ฆ่าตัวตาย”ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของฉากหรือเป็นตัวละครประกอบก็ได้ ซึ่งฉากหรือตัวละครตรงนี้ก็ไม่เน้นที่จะให้เกิดความสมจริง เพราะการที่จะให้ “คน” กลุ่มต่างๆ มารวมพร้อมกันดังในเรื่องเป็นสิ่งที่เป็นจริงได้ยาก แต่การที่ผู้เขียนสร้างฉากเช่นนี้ขึ้นมานั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเจตนาที่จะจำลองภาพของสังคมทั้งหมดอันประกอบด้วยคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งล้วนมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากเพื่อมนุษย์ด้วยกัน(แม้กระทั่งจากความตาย) มากกว่า
ความสมจริงของฉากในวรรณกรรมแนวแอบเสิร์ดนี้จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึง ผู้เขียนจะไม่คำนึงว่าจะมีความสมจริงหรือไม่ แต่จะคำนึงว่าจะสามารถสื่ออะไรให้กับผู้อ่านมากกว่า ฉากของเรื่องนี้จึงเป็นมากกว่าสถานที่และบรรยากาศ คือเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนบอกว่า
“สะพานดูเหมือนจะเป็นเครื่องหมายของการนำเราไปสู่ที่ใดที่หนึ่งซึ่งอาจเป็นจุดหมายหรือเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากไปสู่ และก็เป็นทั้งเครื่องเชื่อมโยงของสองสิ่งให้รวมเป็นสิ่งเดียวกัน…คราวนี้มันคงจะได้ทำหน้าที่นำฉันไปสู่ความตายและเชื่อมโยงชีวิตฉันให้เป็นอันหนึ่งกันเดียวกันกับอะไรสักอย่าง” (หน้า 64)
นอกจากนี้การเลือกเวลาและบรรยากาศให้เป็นยามสายที่อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือเป็นการเลือกเวลาและบรรยากาศที่เหมาะสมกับตัวละครและแก่นเรื่องที่สร้างความรู้สึกเงียบเหงาว้าเหว่ได้ค่อนข้างชัดเจน ถนนที่ยาวไกลไปสู่สะพานก็ยิ่งทำให้ตัวละครรู้สึกเปล่าเปลี่ยวท่ามกลางรถยนต์บนถนนจำนวนมากนั้นได้มากขึ้น ระยะห่างระหว่างฉันบนสะพานกับคนที่มา “มุงดู” (ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วจะห่างเกินกว่าที่จะสามารถมองเห็น“ความคิด”จากแววตาของคนเหล่านั้นได้) ก็ยิ่งทำให้“ฉัน” โดดเดี่ยวจากสังคมได้อย่างชัดเจน
6. บทสนทนา
ตลอดทั้งเรื่องจะมีบทสนทนาเพียงครั้งเดียวในตอนที่ฉันถามตำรวจหลังจากที่ลงจากสะพานแล้วว่า“มีเงินพอเลี้ยงข้าวผมสักมื้อไหมล่ะจ่า” ซึ่งเป็นคำพูดที่ดูไร้ความหมายและไม่เกี่ยวกับแนวคิดหรือโครงเรื่องเลย แต่ถ้าจะว่าไปแล้วนี่ก็คือความไร้สาระหรือไม่มีเหตุผลของความเป็นมนุษย์นั่นเอง อันเป็นลักษณะสำคัญของวรรณกรรมแนวนี้ที่บทสนทนาของตัวละครจะมีลักษณะที่ดูเหมือนกับเป็นคำพูดที่ไม่มีเหตุผลหรือไร้สาระและไม่ปะติดปะต่อกัน แต่ก็มีความหมายค่อนข้างมากในอันที่จะอธิบายแก่นเรื่อง ที่ต้องการเน้นให้เห็นถึงความไร้สาระไร้ความหมายของชีวิตมนุษย์ แสดงให้เห็นถึงสภาวะหลังที่ได้ “ฆ่าตัวตนเก่า” อันเป็นตัวตนที่แปลกแยก แสดงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มิใช่เป็นเสมือนความสัมพันธ์ในเชิงกลไกอันไร้ความรู้สึกและวิญญาณที่มนุษย์ในสังคม “เมือง” มีต่อกัน มนุษย์ไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันในเรื่องที่เป็นงานเป็นการหรือที่เป็นผลประโยชน์เสมอไป
7.ตัวละคร
ตัวละครหมายถึงผู้ประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเรื่องหรือผู้ที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามโครงเรื่อง เรื่องสั้นโดยทั่วไปมีตัวละครสำคัญเพียงตัวเดียว หรือมีน้อยตัว สำหรับในเรื่อง “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” จะมีตัวละครสำคัญคือ“ฉัน” ส่วนบุคคลที่กล่าวถึงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ (นักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าว) พ่อค้าหาบเร่ นักเรียนกลุ่มหนึ่ง พระสองรูป หญิงสาวและตำรวจ ล้วนแสดงบทบาทที่เป็นตัวแทนของคนในสังคมซึ่งปรากฏอยู่ในห้วงความคิดของ“ฉัน” เท่านั้น (แม้จะเข้ามาเป็นวันหนึ่งในเรื่องในฐานะของคนที่กำลังมุงดู“ฉัน”ในขณะที่กำลังจะฆ่าตัวตาย)
ตัวละครของเรื่อง คือ“ฉัน”ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องจะมีลักษณะที่ไม่ค่อยสมจริงนัก พฤติกรรมของตัวละครอาจมีบางอย่างที่ดูเป็นไปไม่ได้หรือขัดแย้งกันในตัวเอง มีความรู้สึกนึกคิดที่ไม่สอดคล้องกับสังคม มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สมเหตุสมผลหรือบางครั้งอาจไม่คาดคิดได้ ตามลักษณะของตัวละครของวรรณกรรมแนวแอบเสิร์ด มีลักษณะที่พอจะสังเกตได้ คือ
1. ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คิดกระทำในสิ่งที่ไร้เหตุผลหรือเป็นไปไม่ได้ เช่น “ฉันเคยนึกถึงกับจะเอาปีกกระดาษใหญ่ๆ ผูกติดกับลำตัวเพื่อที่จะร่อนลงมาด้วยซ้ำ…”
2. ไม่ศรัทธาต่อเหตุผลและกฎเกณฑ์ทางสังคม การแสดงออกเป็นไปในลักษณะของการขัดแย้งกันเหตุผลและกฎเกณฑ์ทางสังคม ดังข้อความที่ว่า
“…ฉันถูกอบรมสั่งสอนมาตลอดเวลาว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่มีราคา และการฆ่าตัวตายนั้นเป็นบาป เป็นการกระทำของคนขี้ขลาด…ฉันไม่ค่อยจะได้ติดใจคำสอนนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแต่จะระแวงว่ามันเป็นคำสอนของผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการคิดฆ่าตัวตายมาก่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะฉันไม่อาจมองเห็นค่าในชีวิตได้จริงๆ ด้วยฉันเห็นชีวิตมาแล้วไม่น้อย ชีวิตที่เกิดมาง่ายๆ เป็นอยู่ง่ายๆ และตายง่ายๆ เป็นชีวิตที่ได้มาเปล่าๆ ทั้งสิ้น… ใครกันมีหน้ามาบอกว่า ชีวิตเป็นสิ่งมีราคา การฆ่าตัวตายเล่าเป็นบาปละหรือ เป็นบาปได้อย่างไรกัน ในเมื่อเราไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน…” (หน้า 60)
3. ตัวละครมีลักษณะโดดเดี่ยวอ้างว้าง หลายครั้งที่”ฉัน”บอกออกมาอย่างตรงๆ ว่าโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหนื่อยหน่าย หรือเงียบเหงา ดังที่ว่า
“ฉันมองไม่เห็นเลยว่ามีเหตุผลอะไรที่ฉันควรจะใช้ชีวิตอยู่อีกต่อไป ฉันถูกอบรมสั่งสอนมาตลอดเวลาว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่มีราคา และการฆ่าตัวตายนั้นเป็นบาป เป็นการกระทำของคนขี้ขลาด แต่จะให้ฉันคิดอยู่เช่นนั้นได้อย่างไรในวันเช่นนี้ วันอาทิตย์ที่เงียบเหงา ไม่มีเพื่อนพอที่จะรับรู้ความรู้สึกเหนื่อยหน่ายร่วมกันได้สักคน…” (หน้า 60)
“…ฉันเห็นท่าจะลุกเดินเสียที ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะเดินไปไหน แต่มีถนนสำหรับจะให้เดินอยู่เยอะ และทุกสายก็พาไปสู่ความว่างเปล่าเหมือนกันทุกสายนั่นแหละ…” (หน้า 62)
4. ตัวละครมีลักษณะเป็น Anti – Hero คือมีลักษณะเป็นบุคคลธรรมดาสามัญที่มีชีวิตเรียบง่าย ไม่มีลักษณะที่โดดเด่นใดๆ เป็นคนที่ต้องการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่มีพฤติกรรมใดที่จะแสดงความเป็น Hero หรือมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษเหมือนกับตัวเอกในเรื่องสั้นแบบเก่า “ฉัน” เป็นผู้ที่เห็นว่าตัวเองนั้นไม่มีค่าอะไร มีแต่ความไร้สาระ การเป็นนักเขียนก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นผู้มีชื่อเสียง“ไม่ได้มีความหมายสูงสุดอะไรนัก”(หน้า 61) และ“ฉันไม่ได้ฝันถึงวันที่จะเป็นนักเขียนใหญ่เสียด้วยซ้ำ เพราะฉันไม่เคยยึดถือในเรื่องเหล่านี้…”(หน้า 61-62) “ฉัน”จึงเป็นเพียงบุคคลเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความหมายใดๆ ในสังคม ไม่ได้มีความสำคัญอะไรที่ผู้คนทั่วไปจะต้องให้การเคารพยกย่อง ยอมรับหรือมีพฤติกรรมอะไรที่โดดเด่น การกระโดดน้ำฆ่าตัวตายของ“ฉัน”จึงเป็นเสมือนการแสดงอย่างหนึ่งที่ผู้คนที่ผ่านไปมาจะหยุดดูด้วยความสนุกสนานหรือเพลิดใจเท่านั้น
8. กลวิธีการเล่าเรื่อง
กลวิธีในการเล่าเรื่องในเรื่องสั้นโดยทั่วไป อาจมีหลายแบบ แต่สำหรับใน“ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” ผู้เขียนใช้ 3 แบบ ผสมผสานไปด้วยกัน คือ
1. การบรรยายแบบกระแสสำนึก(Stream of Consciousness) โดยให้“ฉัน”เป็นผู้บรรยายอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำ ความรำลึกให้พรั่งพรูออกมาเรื่อยๆ โดยอาจจะเล่าอย่างเรื่อยๆ ตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจเล่าออกมาโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าสิ่งใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ไม่สนใจที่จะเรียงลำดับเหตุการณ์ โดยมีทั้งการรำพึงรำพันความรู้สึกนึกคิด การแสดงออกถึง “การวิเคราะห์ภายใน” ของตัว“ฉัน”เอง ตลอดจนการคาดคะเนความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น
2. การใช้สัญลักษณ์ ผู้เขียนเลือกใช้สัญลักษณ์เพื่อนำเสนอความคิดหลักของเรื่อง 2 อย่าง คือ ถนน และสะพาน ถนน(นำมาเป็นชื่อเรื่องด้วย) ที่ “ยาวและร้อนระอุ” เป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางหรือการมีชีวิตอยู่อย่างเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเพื่อไปสู่เป้ามหมาย คือความตาย ส่วนสะพาน เป็นสัญลักษณ์ของการไปสู่เป้าหมายและเชื่อมต่อกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วข้างต้น
3. การบรรยายแบบเหนือจริง เป็นการแสดงออกในลักษณะของจิตใต้สำนึกโดยใช้เครื่องมือที่สำคัญคือการใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึกนึกคิด เป็นการแสดงออกโดยจิตที่ปราศจากเหตุผลหรือกฎเกณฑ์ ดังปรากฏในในตอนที่“ฉัน”บรรยายถึง“ความคิด” ของคนที่มามุงดู“ฉันฆ่าตัวตายอยู่” จากแววตาและท่าทาง ซึ่งหากจะมองในความจริงแล้วระยะระหว่าง“ฉัน”กับคนเหล่านั้นย่อมไม่สามารถมองเห็นความคิดแววตานั้นได้ชัดเจน
9.วินิจฉัยหรือตีความ
ชื่อเรื่อง “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดสำคัญของเรื่องอย่างชัดเจนถึงความคิดฆ่าตัวตายของฉันที่เนื่องมาจาก “ฉัน” มองไม่เห็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ต่อไป และผู้เขียนก็ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้วการฆ่าตัวตายก็คือการฆ่าตัวตนเก่าทิ้งไป แต่สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ได้ก็คือ อย่างไรที่เรียกว่าตัวตนเก่า อย่างไรที่เป็นตัวตนหลังจากที่ฆ่าตัวตนเก่าทิ้งไปแล้ว หากพิจารณาตามหลักปรัชญาของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ และ อัลแบร์ กามูร์ ตัวตนเก่าก็คือความคิดเก่าที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งอื่น คือตัวตนที่ไม่มีความอิสระ เป็นตัวตนที่เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์กับสังคมแล้วจะเกิดลักษณะที่เรียกว่าเป็น “ความแปลกแยก” อันได้แก่ความรู้สึกว้าเหว่ เงียบเหงา เดียวดาย ความรู้สึกที่เกิดจากสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนในสังคมมีความสัมพันธ์กันแบบเครื่องจักรที่ไร้ชีวิตจิตใจ เป็นความสัมพันธ์จอมปลอมที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากกันและกัน แสวงหาผลประโยชน์แม้กระทั่งจากความตายของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์(หรือช่างภาพ) ที่มองเห็นความตายของผู้อื่นเป็นเพียงสิ่งที่เขาสามารถตักตวงผลประโยชน์ได้ ดังว่า
“…ฉันคงเป็นเหยื่อชิ้นสำคัญที่เขาไม่เคยพบพานมาเสียนมนานทีเดียว รูปถ่ายของฉันตอนที่กระโดดลงไปคงจะทำให้เขาเด่นขึ้นมาในวงงานที่เขาทำอยู่ไม่น้อย มันคงจะหมายถึงเงินสักก้อนหนึ่งซึ่งคงจะพอให้เขาเอาไปซื้อเหล้าและผู้หญิงดื่มกินเท่าที่เขาปรารถนา ทั้งมันอาจจะหมายถึงรางวัลที่เขาจะได้ในการประกวดภาพถ่ายที่ไหนสักแห่งหนึ่งด้วยซ้ำ…” (หน้า 67)
หรือพ่อค้าหาบเร่ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความรีบร้อนก็จะหยุดดูเพียงเพื่อตะได้ดู “เหตุการณ์พิเศษซึ่งหาดูได้ไม่มากง่ายนัก” ซึ่งเขาคิดว่า “มันคงคุ้มที่จะได้หยุดสักประเดี๋ยวประด๋าวดูคนโดดน้ำตายเล่น” (หน้า 67) เด็กนักเรียนที่รักสนุกเกินกว่าจะรู้จักความเมตตา พระหนุ่มสองรูปที่เผลอตัวแสดงความอยากรู้อยากเห็นของตนออกมาโดยลืมเลือกความเป็น “พระ” ที่เปี่ยมด้วยเมตตาต่อชีวิตสรรพสัตว์ หญิงสาวที่อยู่ในโลกของความฝันจนเกินกว่าจะเข้าใจความเป็นจริงของสังคม ตลอดจนตำรวจที่อาจจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองมากกว่าที่จะปฏิบัติหน้าที่ในอันที่จะมุ่งให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม
การฆ่าตัวตายที่เป็นการฆ่าตัวตน “เก่า” ทิ้งไป จึงอาจจะหมายถึงการมีอิสระในตนเอง และขณะเดียวกันการเลิกล้มความคิด “ฆ่าตัวตาย” จริงๆ เพื่อเป็นการ “แก้แค้น” คนที่มามุงดู(หรือหมายถึงคนในสังคม) ที่เห็น “ฉัน” เป็นเพียงวัตถุหรือตัวตลกให้สามารถเอารัดเอาเปรียบได้แม่แต่ความตาย การตัดสินใจไม่ฆ่าตัวตายจึงเป็นการสร้างความสะใจให้กับตนเอง เป็นการแก้แค้นคนและสังคม และย่อมหมายถึงเป็นความรู้สึกใหม่ที่เป็นชีวิตที่เป็นอิสระจากการตัดสินของสังคม อันเป็นตัวตนที่แสดงให้เห็นถึงความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ ถนนจึงเป็นเส้นทางที่นำ “ฉัน” ไปสู่ตัวตนใหม่ในขณะที่สะพานคือที่ซึ้งสลัดตัวตนเก่าทิ้งไป เชื่อต่อฉันกับตัวตนใหม่ที่มีชีวิตชีวิต ไม่มีความแปลกแยกในตนเองอีกต่อไป คำพูดที่ฉันกล่าวกับตำรวจเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลเสมอไป เพราะมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร แต่มนุษย์ย่อมมีอารมณ์ความรู้สึก กิจกรรมของมนุษย์จึงไม่ใช่กิจกรรมที่จะก่อประโยชน์ในแง่ของการบริโภคเพื่ออการมีชีวิตอยู่หรือยังชีพเพียงประการเดียว
ความคิดสำคัญอีกประการหนึ่งที่แทรกอยู่ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือ ความคิดว่าด้วยความแปลกแยก อันเป็นปรัชญาของกลุ่มมนุษย์นิยมใหม่ที่พูดถึงสภาวะของมนุษย์ในสังคมเมืองหรือสังคมแบบอุตสาหกรรม
ความแปลกแยก(Alienation) คือ สภาวะที่ทำให้ดูเหินห่างหรือไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ อาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. ความแปลกแยกจากผลผลิตหรือผลผลิตที่แปลกแยก คือแรงงานหรือผลผลิตจากแรงงานที่ปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันถึงความมีอยู่ของเจ้าของแรงงาน กลับกลายเป็นอิสระจากตัวเขา เขาได้ตกเป็นทาสของผลผลิตของเขาแทนที่จะเป็นนาย
2. ความแปลกแยกจากที่ชีวิตแห่งเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ หรือความแปลกแยกที่มนุษย์มีต่อตนเอง หมายถึงการลดระดับกิจกรรมการผลิตที่เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ และมีเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อชีวิตในด้านอารมณ์ความรู้สึกและความงามให้กลายเป็นเพียงการตอบสนองทางกายเพื่อการมีชีวิตอยู่เท่านั้น มนุษย์จะมีความรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ตัวตนที่ปรากฏไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างเงียบเหงา ไร้เป้าหมาย ไม่มีเหตุผล
3. ความแปลกแยกที่มนุษย์มีต่อสังคม เป็นความรู้สึกที่มนุษย์จะมีความรู้สึกว่าคนที่ตนอยู่ร่วมนั้นเป็นคนแปลกหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์จอมปลอมหรือหลอกลวงใส่หน้ากากเข้าหากัน ไร้ความจริงใจต่อกัน ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังจะได้ประโยชน์จากกัน มองเพื่อนมนุษย์เหมือนวัตถุ มีความหวาดระแวง ไม่ไว้ซึ่งกันและกัน
ความคิดเรื่องความแปลกแยกนี้ได้แสดงให้เห็นทั้งในส่วนของการพรรณนาความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่เต็มไปด้วยความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว อันเป็นความแปลกแยกที่มนุษย์มีต่อตนเองดังได้กล่าวแล้วข้างต้น รวมทั้งความแปลกแยกจากผลผลิตและความแปลกแยกที่มนุษย์มีต่อสังคม
ในด้านของความแปลกแยกจากผลผลิต เป็นแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นอิสระของมนุษย์ในแง่ของสิ่งที่เป็นผลผลิตของมนุษย์ได้กลายมาเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมบางอย่าง แต่มนุษย์กลับตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นั้นโดยมิได้คำนึงถึงความเป็นจริงหรือความถูกต้องใดๆ มนุษย์กำหนดเงินขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแทนการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของเพื่อให้เกิดความสะดวก แต่มนุษย์กลับกลายเป็นทาสของเงิน ดังตอนหนึ่งที่ว่า
“…ก่อนนี้มนุษย์เราเคยภูมิอกภูมใจกันนักที่สามารถสร้างรถมาไว้รับใช้ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันกลับกลายมาเป็นความจำเป็นจนถูกไม่ออกแล้วว่ารถเป็นทาสของคนหรือคนเป็นทาสของรถกันแน่…”(หน้า 64)
ในด้านความแปลกแยกระหว่างมนุษย์(ในฐานะปัจเจกชน)กับสังคม เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เป็นลักษณะเป็นคนแปลกหน้ากัน เช่น เป็นความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน แม้จะรู้จักกันก็ไม่มีอะไรที่เป็นความสัมพันธ์เกินกว่าที่มองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับช่างภาพหนังสือพิมพ์ เด็กนักเรียน พระ หญิงสาว พ่อค้าหาบเร่ และตำรวจในเรื่อง ซึ่งไม่มีลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เหลืออยู่ ต่างคนต่างก็หวาดระแวงและมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากกันและกัน
ความแปลกแยกดังกล่าวข้างต้น เป็นความแปลกแยกที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนในสังคมเมืองที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสูงหรือสังคมอุตสาหกรรมที่มักเน้นที่วัตถุมากกว่าคน หรือเน้นที่ผลผลิตมากกว่าผู้ผลิต ดังที่เราจะสามารถพบเห็นได้อย่างเสนอๆ ว่า คนในสังคมเมืองแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็จะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ หวาดระแวงซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกว่าผู้คนคิดร้ายต่อตน แย่งชิงผลประโยชน์จากตน เหล่านี้เป็นต้น
10. สรุป
แม้ “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” จะเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 หรือเกือบสี่สิบปีมาแล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนให้“ฉัน”แสวงหา หรือปรัชญาความคิดที่ปรากฏในเรื่องก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้อย่างเด่นชัดในสังคมปัจจุบัน เราจะพบว่าในปัจจุบันคนในสังคมเมืองก็เป็นเช่นเดียวกัน“ฉัน”คือเต็มไปด้วยความรู้สึกเงียบเหงาว้าเหว่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนก็จะมีความแปลกแยกมากขึ้นตามลำดับ การฆ่าตัวตายของคนที่ไร้ทางออกในชีวิตที่เต็มไปด้วยความว้าเหว่หรือปัญหาในชีวิตมีมากขึ้นตามลำดับ แม้กระทั่งผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะการสูญเสียทรัพย์สินหรือฐานะทางสังคมที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วเกิดเพราะบุคคลเหล่านั้นได้กลายเป็นทาสของทรัพย์สินเงินทองจนมองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ได้มองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการ. “ประวัติการศึกษา การทำงาน และผลงานของวิทยากร เชียงกูล” ใน ศรีบูรพา 1. พฤษภาคม 2541. (หน้า 87-91.)
ธัญญา สังขพันธานนท์, วรรณกรรมวิจารณ์. นาคร,2539.
บรรจง บรรเจิดศิลป์, “วรรณกรรมวิจารณ์” มติชนสุดสัปดาห์. 8:2542 17 กุมภาพันธ์ 2528. และ 8:2563 2528 10 มีนาคม 2528. ( หน้า 38-39 )
บุหลัน รัตนกฤษฎาธาร. “วิเคราะห์ปัญหาเรื่องความแปลกหน้า ในหนังสือต้นฉบับเรื่องเศรษฐกิจและปรัชญา ของ คาร์ล มาร์กซ์.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.
วิทยากร เชียงกูล. ฉันจึงมาหาความหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 10 ; สามัญชน,2533.
สุชาติ สวัสดิ์ศรี, “จิตสำนึกขบถในงานวรรณกรรมไทยสมัยใหม่” ใน ภาษาและหนังสือ. 16:2 ตุลาคม 2526- มีนาคม 2527. (หน้า 51-77.)
สุชาติ สวัสดิศรี “บทกล่าวนำ” ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย. ดวงกมล,2518.
สุดารัตน์ เสรีวัฒน์,วิวัฒนาการของเรื่องสั้นในเมืองไทยตั้งแต่แรกจนถึง พ.ศ.2475. หน่วยศึกษานิเทศก์, กรมการฝึกหัดครู,2522. หน้า 14.
สุพรรณี วราทร. ประวัติการประพันธ์นวนิยายไทย.มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์,2519.
สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร. พระอภัยมณี การศึกษาในเชิงวรรณคดีวิจารณ์ . สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2518. .
สุวัฒน์ วรดิลก “รางวัลศรีบูรพาอันดับ 10.” ใน ศรีบูรพา 1. พฤษภาคม 2541. หน้า 65-69.
อุดม หนูทอง, พื้นฐานการศึกษาวรรณคดีไทย. สงขลา : โรงพิมพ์เมืองสงขลา,2523.