การอ่านนวนิยายและเรื่องสั้น
นวนิยายและเรื่องสั้น เป็นการเขียนประเภทบันเทิงคดีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก ในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงแม้นวนิยายและเรื่องสั้นจะเป็นเรื่องสมมุติ แต่เรื่องราว สารัตถะต่าง ๆ มักถ่ายแบบมาจากชีวิตจริง ดังนั้นการอ่านนวนิยายและเรื่องสั้น นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินใจแล้วผู้อ่านยังได้แง่คิดต่าง ๆ จากพฤติกรรมของตัวละครไปพร้อม ๆ กันด้วยนวนิยายและเรื่องสั้นมีองค์ประกอบการเขียนที่เหมือนกัน แต่เรื่องสั้นมีโครงเรื่องที่ซับซ้อนน้อยกว่านวนิยาย มีการดำเนินเรื่องในช่วงระยะเวลาอันสั้น มีตัวละครเด่น ๆ เพียง 2 - 3 ตัวและเป็นเรื่องที่เสนอความคิดสำคัญเพียงความคิดเดียว
หลักการอ่านและพิจารณานวนิยายมีดังนี้
1. โครงเรื่อง (Plot) ได้แก่ การวางทิศทางของเรื่องว่าจะให้เรื่องดำเนินไปในทิศทางใด โดยวางลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง และปิดเรื่อง ในขณะที่เรื่องดำเนินไปจะปรากฏอุปสรรคและความขัดแย้งเกิดขึ้นกับชีวิตของตัวละคร ซึ่งความขัดแย้ง (Conflict) นี้มีทั้งความขัดแย้งภายนอกและความขัดแย้งภายในการแสดงเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์อะไร ส่วนโครงเรื่องนั้นคือส่วนที่เน้นความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลต่อเนื่องกัน โครงเรื่องที่ดีมีลักษณะดังนี้
1.1 มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องและระหว่างบุคคลในเรื่องอย่างเกี่ยวเนื่องกันไปโดยตลอด
1.2 มีขัดแย้งหรือปมของเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความขัดแย้งของมนุษย์ กับสิ่งแวดล้อมการต่อสู้ระหว่างอำนาจอย่างสูงกับอำนาจอย่างต่ำภายในจิตใจ การชิงรักหักสวาท ฯลฯ ขัดแย้งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ
1.3 มีการสร้างความสนใจใคร่รู้ตลอดไป (Suspense) คือการสร้างเรื่องให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้อย่างต่อเนื่องโดยตลอด อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปิดเรื่องที่ผู้อ่านต้องการทราบไว้ก่อน การบอกให้ผู้อ่านทราบว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนต่อไป การจบเรื่องแต่ละตอนทิ้งปัญหาไว้ให้ผู้อ่าน อยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่อไปนี้
1.4 มีความสมจริง (Realistic) คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล มิใช่เหตุประจวบหรือเหตุบังเอิญที่มีน้ำหนักเบาเกินไป เช่น คนกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน หาทางออกหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ บังเอิญถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงพ้นความเดือดร้อนไปได้
2. กลวิธีในการดำเนินเรื่อง จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจและเกิดความประทับใจซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น
2.1 ดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือเริ่มตั้งแต่ละครเกิด เติบโตเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว แก่แล้วถึงแก่กรรม
2.2 ดำเนินเรื่องย้อนต้น เป็นการเล่าแบบกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายก่อนแล้วไปเล่าตั้งแต่จนกระทั่งจบ
2.3 ดำเนินเรื่องสลับไปมา คือ การเริ่มเรื่องในตอนใดตอนหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อาจกล่าวถึงอดีตแล้วกลับมาปัจจุบันอีก หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดต่างสถานที่สลับไปมา ผู้อ่านควรพิจารณาว่ากลวิธีในการดำเนินเรื่องของผู้เขียนแต่ละแบบมีผลต่อเรื่องนั้นอย่างไร ทำให้เรื่องน่าสนใจชวนติดตามและก่อให้เกิดความประทับใจหรือไม่ หรือว่าก่อให้เกิดความสับสนยากต่อการติดตามอ่าน
3. ตัวละคร (Character) ตัวละครคือผู้แสดงบทบาทหรือพฤติกรรมในเรื่อง อาจเป็นมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ หรือสิ่งของก็ได้ โดยให้สามารถทำพฤติกรรมเยี่ยงมนุษย์ ตัวละครสำคัญในเรื่องเรียกว่าตัวละครเอก ส่วนตัวละครอื่น ๆ เป็น ตัวประกอบ โดยทั่วไปแล้วตัวละครแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ตัวละครที่มีลักษณะเดียว (Flat Character) เป็นตัวละครที่แสดงลักษณะนิสัยเพียงด้านเดียว เช่น เป็นคนดีก็เป็นคนดีตลอด ร้ายก็ร้ายตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิสัย
2. ตัวละครที่มีหลายลักษณะ (Round Character) เป็นตัวละครที่ลักษณะนิสัย อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูเหมือนคนในชีวิตจริง
กลวิธีในการนำเสนอลักษณะนิสัยของตัวละคร มีวิธีการนำเสนอ 5 วิธีด้วยกัน ซึ่งมีทั้งการนำเสนอทางตรงและทางอ้อม (ทองสุก เกตุโรจน์ 2519 : 17) ดังนี้
การบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครทางตรง
1. ผู้เขียนเป็นผู้บรรยายรูปร่างลักษณะ และความรู้สึกของตัวละครเอง
2. ผู้เขียนกำหนดให้ตัวละครตัวอื่น ๆ สนทนา กล่าวถึงหรือคิดเกี่ยวกับตัวละครอีกตัวหนึ่ง
การบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครทางอ้อม
1. ผู้เขียนให้ผู้อ่านทราบนิสัยด้วยการบรรยายการกระทำของตัวละครตัวนั้น
2. ผู้เขียนให้ผู้อ่านทราบนิสัยด้วยบทสนทนาของตัวละครตัวนั้น
3. ผู้เขียนให้ผู้อ่านทราบนิสัยด้วยการบรรยายความคิดของตัวละครตัวนั้น
3.1 ลักษณะนิสัยของตัวละคร
3.1.1 มีความสมจริงเหมือนคนธรรมดาทั่วไป คือ มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง ไม่ใช่ว่าดีจนหาที่หนึ่ง หรือเลวจนหาที่ชมไม่พบ
3.1.2 มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่สดคล้องกับลักษณะนิสัยตนเอง ไม่ประพฤติปฏิบัติในที่หนึ่งอย่างหนึ่งและอีหนึ่งอย่างหนึ่ง
3.1.3 การเปลี่ยนลักษณะนิสัยของตัวละครต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
3.2 บทสนทนาของตัวละคร บทสนทนาที่ดี ควรพิจารณาดังนี้
3.2.1 มีความสมจริง คือ สร้างบทสนทนาให้สอดคล้องกับฐานะและลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่อง
3.2.2 มีส่วนช่วยให้เรื่องดำเนินต่อไปได้
3.2.3 มีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในด้านรูปร่างและนิสัยใจคอ
4. ฉาก (Setting) หมายถึงสถานที่และเวลาที่เกิดเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง ฉากควรถูกต้องและมีความสมจริง เหมาะสมกับแนวเรื่อง ฉากจะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านทราบถึงบรรยากาศของเรื่อง อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของตัวละครอีกด้วย ดังเช่น ฉากพายุกล้า มีฝนตกฟ้าร้อง ย่อมสร้างบรรยากาศที่น่าสะพรึงกลัว ตัวละครอาจตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว ตื่นตระหนก และกำลังตกอยู่ในอันตราย หรือฉากท้องทุ่งนาที่แตกระแหง ย่อมสะท้อนบรรยากาศร้อนอบอ้าว ตัวละครอาจตกอยู่ในภาวะอดอยาก ยากแค้น เป็นต้น
4.1 สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และช่วยสร้างบรรยากาศ เช่น บ้านร้างมีใยแมงมุมจับอยู่ตามห้อง ฯลฯ น่าจะเป็นบ้านที่มีผีสิง คืนที่มีพายุฝนตกหนักจะเป็นฉากสำหรับฆาตกรรม
4.2 ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง ฉากที่มีความถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะช่วยเสริมให้นวนิยายเรื่องนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น
5. สารัตถะ (Theme) หรือแนวคิดหรือแก่นเรื่อง เป็นสารสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านทราบ อาจจะเป็นความจริงอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกิดขึ้นกับโลกและวิถีชีวิตมนุษย์ เช่น ความรัก ความแค้น ความซื่อสัตย์ ความ อยุติธรรม ความเชื่อ ความหลง ความตาย ความอดอยากยากแค้น ความกลัว การสร้างแนวคิดหลักของเรื่องนั้น ผู้เขียนจะไม่สื่อความหมายโดยตรง แต่จะซ่อนสารสำคัญของเรื่องไว้ในบทสนทนาหรือคำบรรยาย ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ
6. บทสนทนา (Dialogue) หมายถึงถ้อยคำที่ตัวละครเจรจาโต้ตอบกัน มีส่วนช่วยในการดำเนินเรื่อง คือ แทนที่ผู้เขียนจะเล่าเหตุการณ์ใดก็ใช้บทสนทนาแทน จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด ลักษณะนิสัย ตลอดจนบุคลิกของตัวละครนั้นได้เป็นอย่างดี ลักษณะของบทสนทนาที่ดีจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับฐานะและบทบาทของตัวละครนั้น ๆ
7. กลวิธีในการประพันธ์ (Techniques) กลวิธีในการประพันธ์ จะมีส่วนช่วยให้เนื้อหามีสีสัน น่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ กลวิธีในการประพันธ์แบ่งออกเป็น กลวิธีการดำเนินเรื่องและกลวิธีในการเล่าเรื่อง
กลวิธีการดำเนินเรื่อง
การเปิดเรื่อง เป็นการเริ่มต้นเรื่อง ผู้เขียนสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องได้หลายวิธี เช่น เปิดเรื่องจากการกระทำของตัวละคร, เปิดเรื่องจากบทสนทนา, เปิดเรื่องโดยการพรรณนาฉากและบรรยากาศของเหตุการณ์ สถานที่, เปิดเรื่องโดยบรรยายรูปร่าง ลักษณะของตัวละคร และเปิดเรื่องโดยใช้โวหาร คำพูดที่คมคาย เพื่อกระตุ้นให้ขบคิด
การลำดับเรื่อง ผู้เขียนอาจลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบได้หลายวิธี ดังเช่น
1. ลำดับเรื่องตามลำดับปฏิทิน หรือตามลำดับก่อนหลัง อาจดำเนินเรื่องโดยเริ่มเรื่องตั้งแต่ตัวละครเกิด เติบโตเป็นหนุ่มสาว จนกระทั่งถึงวัยชรา และตายในที่สุด
2. ลำดับเรื่องแบบย้อนต้น เป็นการดำเนินเรื่องที่เริ่มเรื่องจากปัจจุบัน ในขณะที่ตัวละครเป็นคนหนุ่มสาว หรือคนชรา แล้วย้อนกลับไปคิดถึงความหลัง หรือเรื่องราวในอดีต แล้วจึงดำเนินเรื่องกลับมาสู่เหตุการณ์ในปัจจุบัน
3. ลำดับเรื่องแบบสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน หรือระหว่างเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในสถานที่ 2 แห่ง
การปิดเรื่อง เมื่อเรื่องดำเนินมาจนถึงจุดสุดยอด (Climax) ย่อมคลี่คลายเข้าสู่การปิดเรื่อง ซึ่งจะทำให้เรื่องจบอย่างใดอย่างหนึ่ง การปิดเรื่องที่นิยมมี 4 วิธีดังนี้
1. การปิดเรื่องแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมาย เป็นการจบเรื่องที่เหนือความคาดหมายของผู้อ่าน ทั้ง ๆ ที่เรื่องดำเนินไปในทางที่น่าจะเป็น แต่ก็ต้องมาจบแบบพลิกความคาดหมาย ทำให้ผู้อ่านเกิดความฉงนสนเท่ห์ได้มาก
2. การปิดเรื่องแบบโศกนาฏกรรม เป็นการปิดเรื่องด้วยความโศกเศร้าเสียใจ เนื่องจาก ตัวละครต้องประสบกับความผิดหวัง ความสูญเสีย ความล้มเหลวในชีวิต การปิดเรื่องในลักษณะนี้สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจชะตากรรมของตัวละคร
3. การปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม เป็นการปิดเรื่องอย่างมีความสุข หลังจากที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค ตัวละครก็ได้รับความสำเร็จในสิ่งหวัง
4. การปิดเรื่องแบบทิ้งไว้ให้คิด การจบเรื่องในลักษณะนี้มักจะไม่ปิดเรื่องโดยสมบูรณ์ แต่จะปล่อยให้ผู้อ่านใช้จินตนาการคิดต่อไปว่าเรื่องจะลงเอยเช่นไร หรือยั่วยุให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อเรื่อง
กลวิธีการเล่าเรื่อง
ในเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง ผู้เขียนจะกำหนดหรือเลือกว่าจะให้ใครเป็นคนเล่าเรื่อง หรือจะเล่าเรื่องโดยผ่านสายตาหรือ “มุมมอง” ของใคร การเล่าเรื่องนั้นที่นิยมมี 4 วิธีดังต่อไปนี้
1. ผู้แต่งในฐานะเป็นตัวละครตัวหนึ่งเป็นผู้เล่า อาจจะเล่าผ่านทางตัวละครเอกหรือ ตัวละครรองก็ได้ โดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ ผม ดิฉัน ข้าพเจ้า หนู เรา
2. ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่า โดยสมมุติว่าตัวละครนั้นอยู่ในเหตุการณ์หรือรับรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผู้แต่งจะรู้แต่ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้นเพียงตัวเดียว เช่น ในเรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเล่าเรื่องโดยผ่านมุมมองและความรู้สึกของแม่พลอย เป็นต้น
3. ผู้แต่งในฐานะเป็นผู้รู้แจ้งเป็นผู้เล่า ในกรณีนี้นักเขียนจะไม่ให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่า แต่จะใช้วิธีบรรยายไปตามเรื่องที่ตัวละครมีบทบาท ทั้งนี้เป็นเหตุการณ์และความรู้สึกนึกคิดภายในใจ
ของตัวละคร ผู้แต่งเป็นผู้ล่วงรู้หมดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวละครและนำมาบรรยายได้อย่างถ้วนถี่ ไม่ว่าตัวละครนั้น ๆ จะคิดอะไร รู้สึกอย่างไร
4. ผู้แต่งในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์เป็นผู้เล่า กลวิธีนี้ผู้เขียนจะไม่สามารถเข้าไปอยู่ในจิตใจของ ตัวละคร แต่จะทำหน้าที่เสมือนคนรายงานสิ่งที่ตนเห็นหรือได้ยินได้ฟัง ได้สังเกตการสนทนาหรือการกระทำของตัวละครเท่านั้น ไม่อาจทราบความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้น ๆ ได้
8. ลีลาและท่าทีของผู้แต่ง (Style and Tone)
ลีลาการเขียนและท่าทีของผู้แต่ง เป็นสิ่งที่ผู้เขียนแสดงออกผ่านบทสนทนา บทบรรยายฉาก เหตุการณ์ หรือจากพฤติกรรมของตัวละคร คำว่า “ลีลา” (Style) พระยาอนุมานราชธน ได้ให้คำจำกัดความ หมายถึง “ท่วงทำนองในการแสดงออก” ซึ่งผู้เขียนแต่ละคนจะมีลีลาการเขียน การใช้ภาษาที่เป็นแบบแผนเฉพาะตน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่อง หรือการใช้ถ้อยคำ โวหาร การใช้ความเปรียบ ภาพพจน์ การใช้รูปประโยค การใช้บทบรรยาย พรรณนาต่าง ๆ จนเป็นเอกลักษณ์ของผู้เขียนคนนั้น ๆ
ส่วนคำว่า “ท่าทีของผู้แต่ง” (Tone) หรือบางครั้งเรียกว่า “นํ้าเสียงของผู้แต่ง” นั้นจะไม่ปรากฏอยู่ในเรื่องอย่างตรงไปตรงมา หากผู้เขียนจะซ่อนแฝงท่าทีและนํ้าเสียงของตนไว้ในบทสนทนา บทบรรยายพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นํ้าเสียงสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น นํ้าเสียงเสียดสี ประชดประชัน เสียดเย้ย เยาะเย้ย ตำหนิติเตียน สงสาร สมเพช และสลดใจ เป็นต้น
ลีลาการเขียนและท่าทีของผู้แต่ง เป็นสิ่งที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนรสนิยม บุคลิก ลักษณะนิสัย ตลอดจนทัศนคติของผู้เขียนที่มีต่อโลกและชีวิตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น