วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

วิเคราะห์นวนิยายเรื่องคนดีศรีอยุธยา ของ เสนีย์ เสาวพงษ์

วิเคราะห์นวนิยายเรื่องคนดีศรีอยุธยา ของ เสนีย์ เสาวพงษ์

๑. บทนำ

“คนดีศรีอยุธยา” เป็นนวนิยายในยุคหลังของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเหมือนกับนวนิยายอีกหลายเรื่องของท่านที่เขียนขึ้นในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ อย่าง “ปีศาจ”และ “ความรักของวัลยา” ก็ตาม แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็ทรงคุณค่าและน่าศึกษาไม่น้อยทั้งในแง่ของการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในแนวที่แตกต่างไปจากนักเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ และการเสนอปรัชญาความคิดที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด
นักเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์โดยทั่วไป มักจะยึดเอาเหตุการณ์ที่มีในพระราชพงศาวดารมาใช้เป็นเค้าโครงเรื่องแล้วใช้จินตนาการแต่งเติมเสริมแต่งให้สนุกสนานและมีลักษณะรูปแบบที่เป็นนวนิยาย โดยในด้านหนึ่งมักจะยึดเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และพงศาวดารเป็นเนื้อหาข้อเท็จจริง และสอดแทรกส่วนที่เป็นจินตนาการเข้าไปโดยพยายามที่จะไม่ให้ผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริงจนเกินไปนัก ทำให้ผู้อ่านหรือนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยหลงผิดไปว่าความจริงในนวนิยายคือความจริงในประวัติศาสตร์ แต่สำหรับนวนิยายเรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ถือได้ว่าผู้ประพันธ์ไม่ได้ยึดเอาเหตุการณ์ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือพระราชพงศาวดารมาเป็นข้อมูลหลักในการเขียน ผู้ประพันธ์เพียงใช้จินตนาการสร้างเรื่องราวพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่ามีอยู่จริงในประวัติศาสตร์มาเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ สร้างเป็นนวนิยายขึ้นมาเพื่อนำเสนอปรัชญาประวัติศาสตร์ของผู้แต่งเอง
คุณค่าสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้จึงมิใช่อยู่ที่การนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในบันทึกหรือพระราชพงศาวดาร แต่เป็นนวนิยายที่เน้นนำเสนอความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครจดบันทึกเอาไว้แม้แต่น้อย ดังที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึงไว้ในตอนหนึ่งของคำนำว่า
“เมื่อเดินย้อนรอยถอยหลังไปในแผ่นดินของประวัติศาสตร์ที่ส่วนใหญ่ว่างเปล่า เลาะเล็มไปตามต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์แน่นอนแล้ว บนอาณาบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีการกล่าวถึงแม้สักวรรคหนึ่งหรือบรรทัดหนึ่งนั้น มีพืชคลุมดินอีกมากหลายที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญ มันขึ้นอยู่และเหี่ยวแห้งตายไปตามกาลเวลา แต่ก็มีการเกิดขึ้นใหม่เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ขาดสาย ผมพยายามขุดหารากเหง้าของสิ่งเหล่านี้ด้วยจินตนาการที่มีอย่างจำกัด
ท่ามกลางป่าละเมาะที่มีไม้แก่นที่แกร่งกล้าของบางระจัน คงจะมีต้นหญ้าหรือต้อยติ่งขึ้นอยู่บ้าง
ผมไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ในประวัติศาสตร์
และผมเชื่อว่า ผมไม่ได้ปลอมประวัติศาสตร์” ๑

การอ่านนวนิยายเรื่องนี้จึงมิใช่เป็นการอ่านเพื่อค้นหาหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่น่าจะเป็นการอ่านเพื่อเข้าใจความจริงของประวัติศาสตร์มากกว่า และเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยหากจะได้ตีความนวนิยายเรื่องนี้ในแง่ของ “ความจริง” ในประวัติศาสตร์ที่กว้างไกลกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒

๒. เสนีย์ เสาวพงศ์ : นักเขียนสามัญชน ๒

ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ นักเรียนหนุ่มผู้เพิ่งจบชั้นมัธยม ๘ จากโรงเรียนวัดบพิตรภิมุขคนหนึ่งได้เริ่มเข้าสู่โลกแห่งวรรณกรรมที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงและสยามราษฎร์ เพียงไม่นานหลังจากนั้นนาม บุญส่ง  บำรุงพงศ์ อันเป็นชื่อของนักเรียนหนุ่มผู้นั้นก็ปรากฏในหนัาหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในฐานะของนักข่าวและนักเขียน พร้อมๆ กับที่ไปปรากฏอยู่ในทำเนียบนักศึกษาวิชากฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
ประมาณกลางปี พ.ศ.๒๔๘๔ ปรากฏชื่อนักเขียนเรื่องสั้นนาม“เสนีย์ เสาวพงศ์” ในหนังสือพิมพ์ “สุวรรณภูมิ” เป็นครั้งแรก และเริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักอ่านอีกไม่นานต่อมา และเริ่มฉายแววของนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงเมื่อเรื่องสั้น “อาเคเชียปลายฤดูร้อน” ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิในปีเดียวกัน
เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็คือบุญส่ง บำรุงพงศ์นั่นเอง และก็คือศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ในยุคที่มีการออกระเบียบวัฒนธรรมการตั้งชื่อบุคคลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถือว่าชื่อ “บุญส่ง” เป็นชื่อสำหรับผู้หญิง
พร้อมๆ กับการเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง บุญส่ง บำรุงพงศ์ ได้ทำงานหนังสือพิมพ์ และรับราชการอยู่ในกระทรวงเศรษฐการระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องลาออกจากราชการเมื่อเขาสามารถสอบได้ทุนฮัมโบล์ไปเรียนต่อที่เยอรมนี จะอย่างไรก็ตามเขาก็ไม่สามารถที่จะเดินทางไปเยอรมนีตามเป้าหมายได้ เนื่องจากเกิดสงครามขึ้นในยุโรปตะวันตกเสียก่อน เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็คืนสู่อาชีพนักหนังสิอพิมพ์และเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศในเวลาต่อมา และรับราชการอยู่ในกระทรวงต่างประเทศจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.๒๕๒๑ จึงกลับเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์อีกครั้ง
ในเส้นทางของชีวิตราชการ ศักดิ์ชัย  บำรุงพงศ์ ได้มีโอกาสไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานทูตไทยประจำประเทศต่างๆ โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่สถานทูตและมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่าง ๆ หลายต่อหลายประเทศ ในด้านของความเป็น “นักเขียน” ทำให้ “เสนีย์  เสาวพงศ์” ได้รับประสบการณ์มากมากมายและสามารถนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในงานประพันธ์และงานแปลวรรณกรรมต่างประเทศที่ปรากฏต่อสาธารณชนเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชัยชนะของคนแพ้ (๒๔๘๖) ฟ้าแมนจู ไม่มีข่าวจากโตเกียว (๒๔๘๘) ชีวิตบนความตาย (๒๔๘๙) งานแปล วาระสุดท้ายของเซวัสโตโปล (๒๔๙๔) ความรักของวัลยา (๒๔๙๕) และนวนิยายเรื่องเยี่ยมที่สุดของเขา คือ ปีศาจ (๒๔๙๗)
การเดินทางไปประจำอยู่ที่สถานทูตไทยในประเทศอาร์เจนตินาในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๙–๒๕๐๓ เป็นช่วงเวลาที่เสนีย์ เสาวพงศ์เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากอเมริกาใต้มาใช้ในการเขียนผลงานนวนิยายต่างแดนเรื่องเยี่ยมอย่าง ไฟเย็น (๒๕๐๔) และ บัวบานในอะมาซอน (๒๕๐๕) และเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง
หลังจากนั้นผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ขาดหายไปเป็นช่วงระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะภาระกิจที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีตำแหน่งสูงขึ้น จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.๒๕๒๑ จึงกลับเข้าสู่วงการเขียนอีกครั้งด้วยนวนิยาย คนดีศรีอยุธยา และ ใต้ดาวมฤตยู รวมทั้งเรื่องสั้นและบทความอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมๆ กับการดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาบริษัทมติชน จำกัด อันเป็นการปฏิบัติงานในช่วงปลายของชีวิตที่สงบสุขอันเนื่องจากเป็นงานที่รักมาตั้งแต่วัยหนุ่มแล้ว
สำหรับนวนิยายเรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” เป็นเรื่องเขียนขึ้นภายหลังเกษียณอายุแล้ว โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็คือเอกอัครราชทูตไหยประจำกรุงร่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่ง(ที่นอกเหนือจากหนังสือประวัติศาสตร์)ที่นำมาแต่งนวนิยายเรื่องนี้ก็คือข้อมูลที่ท่านได้รับรู้จากคำบอกเล่าขณะดำรงตำแหน่งอยู่ในพม่านี้เอง ดังนั้นแง่มุมบางแง่มุมของคนดีศรีอยุธยาจึงน่าจะแตกต่างออกไปจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่น ๆ พอสมควร
นอกเหนือจากงานประพันธ์นวนิยายและเรื่องสั้นแล้ว เสนีย์ เสาวพงศ์ ยังเขียนงานประเภทอื่นอีกไม่น้อย ทั้งในนามปากกาเสนีย์ เสาวพงศ์ และนามปากกาอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นงานเขียนบทความและบทวิจารณ์วรรณกรรม รวมทั้งบทความเชิงวิชาการทางด้านการศึกษาวรรณกรรมอีกหลายชิ้น ที่รู้จักกันดีก็มี อัตถนิยมกับจินตนิยม(๒๔๙๕) และวรรณกรรมแนวอัตถนิยม (๒๕๒๒) ซึ่งเป็นบทความที่ว่าด้วยแนวคิดในการสร้างสรรค์และการวิจารณ์งานวรรณกรรมเพื่อชีวิต

๓. วิเคราะห์องค์ประกอบ “คนดีศรีอยุธยา”

๓.๑ เนื้อเรื่องย่อ
โต เล็ก และน้อยเดินทางจากอยุธยาลงใต้ถูกคนของนายทองขาวจับได้ รู้สึกถูกชะตากับนายทองขาวคิดจะอาศัยอยู่ด้วยแต่ติดที่ถูกกีดกันจากหมืนเพ็ชรที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สอนเพลงดาบกีดกันจึงเดินทางต่อ ทั้งสามคนได้ช่วยเหลือพะยอมที่หนีพวกโจรมาและพากันไปพักอยู่กับยายเจิม เริ่มชักชวนผู้คนและส้องสุมชาวบ้านฝึกวิชาต่อสู้เพื่อต่อต้านพม่าขึ้นเป็นแห่งแรก หลักจากนั้นโตและเล็กก็แยกตัวเดินทางต่อไป เล็กเดินทางไปถึงบ้านนางพลอยและถูกจับตัวไปยังหมู่บ้านของลำพู โพน้องชายลำพูช่วยเล็กออกมาได้และพากันไปช่วยลำพูออกจากค่ายพม่า ขณะเดินทางก็พบลำพูที่สามารถหนีออกจากค่ายพม่าได้โดยความช่วยเหลือของทหารมอญคนหนึ่ง จากนั้นทั้งเล็ก ลำพู และโพ จึงไปอาศัยอยู่กับนางพลอยเริ่มชักชวนผู้คนตั้งเป็นกองกำลังขึ้นมาเหมือนกันที่บ้านยายเจิม
ส่วนโต เมื่อแยกทางกับน้องทั้งสองก็ได้พบกับคนของนายทองขาวทราบข่าวชุมนุมนายสังข์จะยกมาปล้นนายทองขาวจึงรีบเดินทางไปยังบ้านนายทองขาววางแผนช่วยเหลือ และสามารถที่จะป้องกันขับไล่นายสังข์และพวกซึ่งมีหมื่นเพ็ชรที่เป็นอาจารย์อยู่ในบ้านของนายทองขาวร่วมอยู่ด้วย ด้วยความช่วยเหลือของน้อยและพวก โตจึงอาศัยอยู่ด้วยกับนายทองขาวชักชวนผู้คนเข้าร่วมฝึกวิชาการต่อสู้กลายเป็นชุมนุมขึ้นมาอีกชุมนุมหนึ่ง พอดีเล็กกับพวกมาถึงพร้อมกับเสบียงอาหารที่ปล้นได้จากเรือลำเลียงของพม่า ทั้งสามชุมนุมจึงร่วมกันวางแผนสร้างกองกำลังที่เข้มแข็งและคอยดักปล้นเรือพม่าที่ผ่านไปมาในแม่น้ำ เพื่อรอการยกทัพมากอบกู้อิสรภาพของพระยาตากซึ่งขณะนั้นได้ยกมาจากจันทบุรีแล้ว  จากนั้นก็แยกย้ายกันไปอยู่ในที่มั่นของตน
ต่อมาน้อยถูกจับตัวไปขังไว้ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่บางกอก ดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากเชลยศึกพม่าในป้อมจึงหลบหนีออกมาได้ ได้พบกับแก้วซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อน ขณะนั้นแก้วเป็นทหารอยู่ในกองทัพหน้าของพระยาตาก ทำให้น้อยสามารถติดต่อกับฝ่ายพระยาตากและแจ้งข่าวการส้องสุมผู้คนไว้รอคอยการยกทัพมากอบก็ชาติของพระยาตาก เมื่อกองกำลังของพระยาตากสามารถตีป้อมวิไชยประสิทธิ์แตกก็ยกทัพขึ้นเหนือมุ่งตีค่ายโพธิ์สามต้น แม้กองกำลังของโต น้อย และเล็ก จะถูกกลั่นแกล้งจากหมื่นหาญที่รายงานต่อแม่ทัพของพระยาตากว่าเป็นพวกโจร แต่แก้วก็สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ทำให้กองกำลังของโต น้อย และเล็กได้เข้าร่วมกับกองทัพพระยาตาก เป็นกองหน้าเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตก จากนั้นบรรดาชาวบ้านในกองกำลังของสามพี่น้องก็ลาจากกองทัพกลับไปอยู่ในชนบททำมาหากินตามอาชีพดั้งเดิมของตน โดยไม่คิดแม้แต่จะรอพบแม่ทัพเพื่อรับความดีความชอบใดๆ ทั้งสิ้น

๓.๒ โครงเรื่อง(plot)
โครงเรื่อง ได้แก่โครงสร้างของบทบาทหรือนาฏการ (actions) ซึ่งจัดระเบียบไว้ให้บรรลุผลทางด้านอารมณ์สะเทือนใจและด้านศิลปะ ๓ เป็นเค้าโครงของพฤติกรรมในนวนิยายซึ่งผู้ประพันธ์กำหนดขึ้นเป็น
“…เหตุการณ์ชุดหนึ่งหรือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในเรื่อง ซึ่งมีความผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีความสำคัญต่อเรื่อง เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินติดต่อกันตามลำดับตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบ” ๔
โครงเรื่องของนวนิยายส่วนใหญ่มักประกอบด้วยองค์ประกอบสองส่วน คือ ความต้องการหรือความปรารถนาของตัวละครอย่างหนึ่ง กับปัญหาหรืออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ตัวละครบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง  ระหว่างโครงเรื่องกับตัวละครจึงเป็นสิ่งสัมพันธ์กันดังที่ Henry James กล่าวไว้ว่า “ตัวละครคืออะไรเล่าถ้าเครื่องกำหนดเหตุการณ์? เหตุการณ์คืออะไรเล่าถ้าไม่ใช่การแสดงให้เห็นตัวละคร?” ๖
โครงเรื่องจึงเป็นตัวที่บ่งบอกให้ผู้อ่านสามารถเห็นได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวละคร และทำไมที่เกิดสิ่งนั้นขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วตัวละครมีพฤติกรรมเช่นไร และพฤติกรรมนั้นมีผลต่อโครงเรื่องหรือการดำเนินเรื่องให้เรื่องเป็นไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
ลักษณะของโครงเรื่องของนวนิยายโดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง คือ โครงเรื่องแบบเก่าและโครงเรื่องแบบใหม่ ๗
๑. โครงเรื่องแบบเก่า เป็นโครงเรื่องที่เน้นความสำคัญของเหตุการณ์และการลำดับเหตุการณ์โดยมีตัวละครเอกเป็นผู้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์และปมปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้ง และพัฒนาไปสู่จุดวิกฤต (Climax) ซึ่งตัวละครจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นเหตุการณ์ก็จะคลี่คลายไปสู่จุดจบ โครงเรื่องแบบเก่านี้มักประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ส่วน คือ
๑.๑ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญ
๑.๒ ตัวละคร คือผู้ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ มีแรงจูงใจในการกระทำเพื่อต่อสู้ดิ้นรนในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา
๑.๓ พฤติกรรมหรือการกระทำของตัวละครที่เกิดจากแรงจูงใจ
๑.๔ อุปสรรคหรือข้อขัดแย้ง ที่เกิดจากสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ตัวละครต้องแก้ไขและต่อสู้อุปสรรคดังกล่าว ความขัดแย้งนี้อาจแบ่งเป็น ความขัดแย้งภายในที่เกิดจากภายในจิตใจของตัวละคร ความขัดแย้งภายนอกที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครกับบุคคลอื่น หรือระหว่างตัวละครกับสภาพแวดล้อม และความขัดแย้งหลักอันเป็นความขัดแย้งที่เปน็ หลักสำคัญของเรื่อง
๒. โครงเรื่องแบบใหม่ เป็นโครงเรื่องที่ไม่เน้นความสำคัญและความสัมพันธ์ของลำดับเหตุการณ์ แต่เน้นที่พฤติกรรมและสภาพความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเป็นสำคัญ โครงเรื่องแบบนี้บางครั้งเรียกว่า โครงเรื่องแบบเปิด(Open Plot) เพราะเป็นโครงเรื่องที่ไม่มีข้อยุติตายตัวเหมือนโครงเรื่องแบบเก่า  นวนิยายเรื่องหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วยโครงเรื่องมากกว่า 1 โครงเรื่อง คือ โครงเรื่องหลัก (Main Plot) หรือโครงเรื่องใหญ่ และโครงเรื่องย่อย(Sub Plot) อีกจำนวนหนึ่ง โครงเรื่องหลักคือเค้าโครงของเรื่องทั้งหมดที่ผู้ประพันธ์ต้องการให้เป็นไป มีการผูกปมของเรื่องการเกิดความซับซ้อนนำไปสู่จุดวิกฤตหรือ Climax และคลี่คลายเงื่อนปมเหล่านั้นในตอนจบ ส่วนโครงเรื่องย่อยจะเป็นโครงเรื่องที่แทรกอยู่ในโครงเรื่องใหญ่เพื่อให้เกิดความซับซ้อน เพิ่มความสนุกสนานชวนติดตามให้แก่เนื้อเรื่อง ตลอดจนสร้างความชัดเจนให้กับโครงเรื่องใหญ่ด้วย
โครงเรื่องหลักของ “คนดีศรีอยุธยา” เป็นเรื่องราวของการรวมตัวของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับพม่าภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ โดยมีตัวละครสำคัญ ๓ คน คือ โต เล็ก และน้อย เป็นแกนหลักในการรวมตัวและนำกำลังชาวบ้านเข้าร่วมกับกำลังกองทัพของพระยาตากกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ แล้วนำกองกำลังชาวบ้านเหล่านั้นกลับบ้านนอกประกอบอาชีพเดิมภายหลังชนะศึกโดยไม่เรียกร้องความดีความชอบใดๆ ทั้งสิ้น
เสนีย์ เสาวพงศ์ เปิดเรื่องโดยการให้ชายหนุ่มทั้งสามเดินทางออกจากอยุธยาไปถึงบ้านของนายทองขาวด้วยหวังจะใช้เป็นที่ส้องสุมผู้คนต่อต้านพม่า แต่เกิดความขัดแย้งกับคนของนายทองขาวเสียก่อน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ส้องสุมคนใหม่ จากนั้นเรื่องก็ดำเนินไปโดยให้ทั้งแยกย้ายกันส้องสุมและฝึกฝนวิชาการต่อสู้ให้กับชาวบ้านจนกลายเป็นกองกำลังเล็ก ๓ กลุ่มคอยดักปล้นหน่วยเสบียงและกองกำลังพม่า ตลอดจนคนไทยที่ยอมเป็นขี้ข้าพม่า จนเมื่อกองกำลังเพิ่มมากขึ้นก็เกิดความขัดแย้งกับคนไทยด้วยกันเองที่มุ่งหวังส้องสุมผู้คนคิดตั้งตนเป็นใหญ่ ในที่สุดชายหนุ่มทั้งสามก็สามารถนำกองกำลังชาวบ้านของตนเข้าร่วมกับกองทัพพระยาตากอันเป็นจุดสำคัญหรือจุดสุดยอดของเรื่อง และจบเรื่องลงด้วยการที่กองทัพพระยาสามารถยึดค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ชายหนุ่มทั้งสามพร้อมชาวบ้านจึงออกจากกองทัพกลับไปดำรงชีวิตเป็นสามัญชนดังเดิม
โครงเรื่องย่อยเป็นโครงเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างกองกำลังคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าที่นำไปสู้การต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างกลุ่มของชาวหนุ่มทั้งสามและนายทองขาวกับกลุ่มของหมื่นเพ็ชร์กับนายสังข์ที่พยายามหว่านล้อมคนของนายทองขาวไปเข้าด้วยกับก๊กเจ้าพิมายด้วยหวังความดีความชอบและตำแหน่งสำคัญ โครงเรื่องที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มของชายหนุ่มทั้งสามกับกองกำลังของหมื่นหาญที่เห็นประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง มุ่งหวังเอากองกำลังชาวบ้านเป็นฐานเพื่อให้ตนสามารถเป็นใหญ่ได้ เมื่อไม่สามารถชักจูงกลุ่มชาวบ้านได้ก็อาฆาตแค้นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนใช้กำลังทหารมาปราบปรามฆ่าฟันคนไทยด้วยกันเอง
๓.๓ แนวคิด(Theme)
แนวคิดหรือแก่นเรื่องได้แก่ความคิดหรือจุดสำคัญของเรื่อง อันเป็นสาระหรือสัจจะที่ผู้ประพันธ์หยั่งเห็นเชื่อถือหรือยึดถือ และประสงค์จะสื่อไปยังผู้อ่าน ๘ ซึ่งปรากฏอยู่ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายเรื่อง เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกัน ๙ แนวคิดของเรื่องจะมีลักษณะเป็นนามธรรมซึ่งสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้โดยการเสนอผ่านตัวละคร การกระทำ และภาพลักษณ์ในงานนั้นๆ ๑๐
แนวคิดในงานบันเทิงคดีทั่วๆ อาจแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๔ ชนิด คือ
๑. แนวคิดแสดงทัศนะ คือ แนวคิดที่ผู้แต่งมุ่งเสนอหรือแสดงทัศนะความคิดเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น แนวคิดแสดงทัศนะต่อค่านิยมในสังคม แนวคิดแสดงทัศนะต่อคุณธรรม แนวคิดแสดงทัศนะต่อสภาพความเป็นไปในสังคมและเหตุการณ์บ้านเมือง เป็นต้น
๒. แนวคิดแสดงอารมณ์ คือ แนวคิดที่มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เช่น ความรู้สึกว้าเหว่ ความเหงา ความรัก ความแค้น ความกลัว เป็นต้น แนวคิดที่มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึก เป็นแนวคิดที่ผู้แต่งมุ่งที่จะให้ผู้อ่านได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร หรืออาจต้องการให้ผู้อ่านทั้งรับรู้และมีส่วนร่วมรู้สึก คือ เกิดอารมณ์ความรู้สึกคล้อยตามตัวละครในเรื่องไปด้วย
๓. แนวคิดแสดงพฤติกรรม คือ แนวคิดที่ผู้แต่งมุ่งเสนอพฤติกรรมของตัวละครและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นส่วนสำคัญของเรื่อง พฤติกรรมของตัวละครที่ผู้แต่งมุ่งให้เป็นแก่นเรื่องอาจคลี่คลายมาจาก ๑) ทัศนะต่อค่านิยมหรือคุณธรรมบางประการ และ ๒) ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์
๔. แนวคิดแสดงสภาพและเหตุการณ์ ได้แก่แนวคิดที่ผู้แต่งมุ่งแสดงสภาพบางอย่าง หรือเหตุการณ์บางตอนบางช่วงชีวิตของตัวละคร เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความยากจนของชาวชนบท แนวคิดเกี่ยวกับสภาพของผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม เป็นต้น
ในนวนิยายเรื่องหนึ่งๆ จะมีแนวคิดสองส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่เป็นแนวคิดหลักอันปรากฏอยู่หรือแสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งผู้อ่านจะสามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ก็ต่อเมื่ออ่านเรื่องจนจบ และแนวคิดย่อยซึ่งแทรกอยู่ในตอนใดตอนหนึ่งของเรื่อง ในนวนิยายทั่วๆ ไป แนวคิดย่อยจะเป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดหลักให้เด่นชัดขึ้น
แนวคิดหลักของเรื่องคนดีศรีอยุธยา ผู้ประพันธ์ต้องการเสนอแนวความคิดที่ว่า บุคคลผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงก็คือสามัญชนอันเป็นกลุ่มคนที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกวีรกรรมของพวกเขาไว้แม้แต่น้อย อีกทั้งยังเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หรือผู้ประกอบวีรกรรมที่ไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์หรือมุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ผู้มีตำแหน่งฐานะและบุคคลชั้นสูงนั้นมักทำทุกอย่างเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ดังที่ผู้ประพันธ์ได้สรุปด้วยคำพูดของนายกองใหญ่ไว้ในตอนท้ายของเรื่องว่า
“แก้วเอ๋ย” นายกองใหญ่พูดเสียงพร่าด้วยความตื้นตันใจ “ชาวบ้านของเรานั้นดีแสนดีน่ารักน่านับถือ เขาร่วมทำงานใหญ่ขนาดนี้โดยไม่เรียกร้องอะไรเลย หรือถึงจะให้ก็ยังไม่ยอมรับมีแต่เสียสละ เสียสละ ส่วนคนที่ทำราชการ เอ็งอยู่ต่อไปจะได้เห็นเอง ใช้ให้ทำอะไรหน่อยก็เรียกร้องขอของแลกเปลี่ยน จะต้องได้โน่นจะต้องเป็นนี้ถึงจะทำ บางคนทำอะไรนิดหน่อยก็เรียกร้องทวงบุญคุณเสียล้นเหลือ คนอย่างนี้มันมีจริงๆ ถึงจะเป็นพวกส่วนหน่อยก็เถอะ…”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๕๓๘

แนวคิดย่อยมีหลายแนวคิด ได้แก่
๑. แนวคิดเกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว เน้นให้เห็นว่าความรักเป็นเรื่องความเสียสละ ตัวละครสำคัญอย่างโต เล็ก และน้อย ถึงแม้จะมีความรัก แต่ความรักก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานกู้ชาติ นอกจากจะไม่เป็นอุปสรรคแล้วยังเป็นตัวสนับสนุนให้กำลังใจ และส่งเสริมซึ่งกันและกันให้ร่วมมือกันในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง
๒. แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสตรี ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่า สตรีก็มีความสามารถที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองได้เช่นเดียวกับบุรุษเพศ ดังที่ผู้ประพันธ์ได้สื่อให้เห็นในบทเพลง “แม่ศรีเมือง” ที่น้อยขับร้อง(และ
ผู้ประพันธ์นำมาเป็นคำประพันธ์เปิดเรื่อง) ตอนหนึ่งว่า
โอ สาวเอยสำอาง
เจ้าเอวบางลู่ลม
งามน่าชมพลิ้วกาย
ร่ายรำถวายชัยชนะ
ส่ำศัตรูจะพังทลาย
แม่ศรีเมืองเยื้องกราย
สองดาบสะพายพร้อมเพรียง
แซ่ซ้องเสียงอวยชัย
ยามเจ้าไปยุทธนา
เจ้าแก้วตาของทวยชน
หรือการที่ให้พะยอม ทับทิม ลำพู จันทร์ ฯลฯ อยู่ในกองหน้าเข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น ก็เป็นการเน้นแนวคิดนี้ให้เด่นชัดยิ่ง
๓. แนวคิดเกี่ยวกับการรวมกลุ่มที่เน้นให้เกิดความสามัคคี โดยให้แต่ละคนมีบทบาทสำคัญตามความรู้ความสามารถและความอาวุโสมากกว่าการบังคับบัญชา โดยโต เล็ก น้อย จะนำเอาความคิดนี้มาใช้ในการรวบรวมคนกอบกู้ชาติ ทำให้แต่ละคนได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของตนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และไม่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เช่นกลุ่มนายสังข์และหมื่นเพ็ชร์ที่ต่างก็มุ่งจะเป็นใหญ่
๔. แนวคิดเกี่ยวกับการใช้สติปัญญามากกว่าการใช้กำลังและอาวุธไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาในการปล้นชิงเสบียงอาหารจากทหารพม่า การใช้ปัญญาเอาชนะใจคนไทยที่ไม่เห็นด้วยหรือขัดแย้งกันเอง ดังคำพูดของโตที่ว่า
“ก็อย่างที่ข้าเคยบอก อาจารย์สอนมาว่า อาวุธนั้นให้ใช้เป็นสิ่งสุดท้าย เอาชนะกันด้วยปัญญาก่อน จนเมื่อไม่มีทางแล้วจึงใช้ อาวุธเป็นเครื่องมือของปัญญา แต่ปัญญาจะต้องถืออาวุธอยู่ด้วยตราบใดที่ฝ่ายอธรรมยังถืออาวุธอยู่”
(เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๒๑๒.)

๓.๔ ฉากและบรรยากาศ (Setting and Atmosphere)
ฉากหมายถึงสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง ซึ่งรวมไปถึงเวลา บรรยากาศ หรือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่ตัวละครใช้แสดงนาฏการ ฉากไม่เป็นเพียงแต่สิ่งแวดล้อมภายนอกของตัวละครเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์และมีความหมายต่อภาวะจิตใจของตัวละครอีกด้วย องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดฉาก ได้แก่
1. สภาพภูมิระเทศ สถานที่ การสร้างฉากบนเวทีละคร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้ว่าสถานที่ที่เกิดอาการของเรื่องนั้นเกิดขึ้นที่ใด
2. สภาวะอาชีพการงานหรือชีวิตประจำวันของตัวละครที่เป็นอยู่
3. เวลาหรือยุคสมัยที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง
4. สภาพแวดล้อมเงื่อนไขสถานการณ์ของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ศาสนา ศีลธรรมจรรยา สภาพจิตหรือภาวะอารมณ์ของตัวละคร ๑๓
ฉากในเรื่องจะประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญที่เป็นหมู่บ้านริมลำน้ำที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญของผู้คน แต่ภายหลังเสียงกรุงลำน้ำสายนี้ก็เงียบเหงา เรือที่แล่นผ่านไปมาก็จะมีแต่เรือของทหารพม่าหรือคนไทยที่ยอมเป็นขี้ข้าของพม่าและเรือของพวกโจรเป็นหลัก ในขณะที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปยากนักที่จะใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมา ด้วยกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นทั้งจากพม่าและพวกโจร บ้านเรือนที่เคยตั้งริมน้ำในอดีตก็รื้อถอนโยกย้ายลึกเข้าไปในป่าให้ห่างจากลำน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าวให้รายละเอียดในตอนหนึ่งว่า
“สามหนุ่มพเนจรพายเรือกันมา ๓ วัน ไม่พบอะไรเป็นพิเศษ มันเพียงจดจำทิศทางของลำคลอง บ้านของชาวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปจากฝั่งคลอง บ้านร้างริมคลองสามสี่แห่งที่เจ้าของทิ้งร้างไปนานจนหญ้าขึ้นรกรุงรัง มันพายเรือเลียบฝั่งตะวันตกเพื่อหลบแสงแดดบ่าย หญ้าขนและเฟือยเลื้อยทอดจากตลิ่งลงมาในคลอง นกเล็กๆ หลายตัวบินพรูขึ้นเมื่อเรือเฉียดเข้าไปใกล้”
(เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๑๗.)

หรือในอีกตอนหนึ่งที่แสดงถึงความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวของหมู่บ้านอันเป็นผลมาจากสงคราม ว่า
“มันเดินกันมาเป็นระยะทางไกลโขจากริมฝั่งคลอง แต่ยังมองไม่เห็นว่าจะพบบ้านคนสักแห่ง…”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๒๗.
ในขณะที่สภาพความเป็นอยู่ความเป็นอยู่ของคนก็แสนเข็ญ นายทองขาวนั้นแม้จะมีฐานะดี แต่เมื่ออยู่ในภาวะสงครามก็ต้องโยกย้ายบ้านเรือนไปหลบซ่อนอยู่ในที่ลับหูลับตา ดังที่ผู้ประพันธ์บรรยายฉากของบ้านนายทองขาวไว้ว่า
“ซ่อนอยู่หลังพงไผ่ มีเรือนฝากระดานหลังใหญ่ ๓ หลัง ใต้ถุนสูง เรียงรายต่อด้วยเรือนขนาดย่อม กับหลังคามุงจากที่เป็นยุ้งข้าว โรงมุงจากโปร่งไม่มีฝากั้นทั้งสี่ด้าน เรียงรายกันเป็นวงกลม ตรงกลางเป็นลานกว้าง ผิวหน้าดินปรับเรียบ มีต้นไม้อยู่หลายต้น”
(เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕.หน้า ๘.)
นอกจากนี้ก็ยังมีฉากที่กล่าวถึงในเรื่องอีกอย่างน้อยสองฉาก คือ ฉากในป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่น้อยถูกจับไปขังไว้ และฉากค่ายโพธิ์สามต้นในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งผู้ประพันธ์พยายามกล่าวถึงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในเรื่อง เช่น ฉากป้อมวิไชยประสิทธิ์ก็จะเน้นในคุกและบางส่วนที่น้อยได้สัมผัสฉากค่ายโพธิ์สามต้นก็จะเน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตัวละครสำคัญที่บุกเข้ายึดค่าย ในฉากการบุกเข้ายึดค่ายของกองหน้าทัพพระยาตากที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาวบ้าน ผู้ประพันธ์ได้พยายามพรรณนาให้เห็นภาพของสถานที่ บรรยากาศ และนาฏการที่เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กันตอนหนึ่ง ว่า
“เดือนค่อนดวงจมหายไปที่ริมขอบฟ้า
เมื่อหมดแสงเดือน ดาวก็ดูจะมีแสงเข้มขึ้น แต่ความสว่างยังไมพอจะชดเชยกับแสงเดือนที่หายไป ในความมืดที่ปกคลุมทั่วบริเวณ ทุกสิ่งทุกอย่างดูเงียบสงบในยามดึกที่กำดัด แต่ในความมืดนั้นมีการเคลี่อนไหวที่มองไม่เห็นด้วยสายตาในระยะไกลเกินสามสี่วา คนเหล่านั้นกำลังหิ้วบันไดไม้ไผ่ สองคนหิ้วทางหัว สองคนหิ้วตอนกลาง และอีกสองคนหิ้วท้าย เดินไปข้างหน้าเป็นแถวเรียงหนึ่ง บุคคลเหล่านี้รู้ภูมิประเทศเป็นอย่างดี เขาลอดผ่านช่องของคูกว้างราวสองวาที่ขุดขึ้นและพรางไว้ด้วยหญ้า ตูนี้ยาวขนานไปกับค่าย แต่ก็มีอยู่เพียงด้านเดียว
เพราะฝ่ายข้างในค่ายมีเวลาเพียงไม่กี่วันในการตระเตรียม ในคูนั้นปักขวากไว้ตลอด แต่การกระทำนี้ได้อยู่ในการสังเกตของชาวบ้านที่แอบซุ่มเฝ้าดูอยู่ พวกเขาจึงเดินผ่านข้ามไปโดยไม่มีใครพลัดตกลงไป
….
คนที่ตามมาข้างหลังยังเคลื่อนเข้ามาสมทบ อีกส่วนหนึ่งขยายยาวออกไปทางปีก แมลงเล็กๆ ที่ทำเสียงอยู่ในพงหญ้าหยุดเงียบเมื่อมันรู้ถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นใกล้ แต่ที่อยู่ห่างออกไปยังคงทำเสียงในจังหวะที่ซ้ำซาก
สะเก็ดดาวจากท้องฟ้าทำความสว่างวาบเป็นทางยาวเพียงอึดใจเดียว ความมืดก็ประสานกันเข้าอย่างเก่า”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๕๐๒–๕๐๓.

ฉากนี้เป็นฉากที่ผู้เขียนพยายามสร้างให้เกิดบรรยากาศที่สงบเงียบเหมือนกับการรอคอยอันยาวนานของกองกำลังชาวบ้านที่เตรียมบุกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น จากความสงบเงียบไร้ความเคลื่อนไหวก็เกิดความเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน รวดเร็ว และรุนแรง ดังในฉากต่อมาว่า
“ทันใดนั้นก็มีแสงไฟสว่างขึ้นทางด้านใต้ของป้อม แล้วก็มีเสียงทหารลั่นกลองรบ มันดังสะท้อนก้องเข้าไปในอก ไฟลุกฮือขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแสงไฟเห็นคนจำนวนมากวิ่งไปวิ่งมาอย่างสลับฟันปลา เรียกความสนใจของฝ่ายที่อยู่ในค่ายให้หันไปทางนั้น เสียงปืนดังมาจากในค่าย”
อีกด้านหนึ่งบันไดถูกยกขึ้น คนที่หิ้วทางหัวยกขึ้นจนสุดมือ คนที่อยู่ช่วงกลางส่งต่อ คนที่อยู่ช่วงท้ายดันขึ้นไป พอได้ที่วางปลายลงกับดิน คนที่อยู่ตอนหัวกระโดดขึ้นไปเป็นคู่แรก บันไดอื่นๆ ก็ยกขึ้นพาดในเวลาใกล้เคียงกัน และคนปีนขึ้นไปอย่างคล้องแคล่ว บางคนกระโจนเข้าไปในค่าย บางคนถูกแทงหรือถูกฟันตกลงมา คนต่อไปหนุนเนื่องขึ้นไปอีกไม่ขาดสาย
…..
ฟ้าสาง ความสว่างกระจ่างแจ้งจนเห็นภาพต่างๆ ได้อย่างชัดเจน”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๕๐๕–๕๐๖.

และในฉากสุดท้ายหลังเสร็จสิ้นการรบ ผู้ประพันธ์ก็ใช้ความสามารถในการเลือกใช้คำที่พรรณนาฉากได้สอดคล้องกับความสุขสงบที่จะเกิดขึ้นต่อมาภายหลังการกอบกู้เอกราชของพระยาตากแสดงให้เห็นถึงความหวังและคล้ายจะเป็นการทำนายเหตุการณ์ภายเบื้องหน้าที่แผ่นดินจะได้มีโอกาสสงบร่มเย็นอีกครั้งดังว่า
“เรือ ๑๒ ลำแล่นตามกันมาในแม่น้ำท่ามกลางแสงตะวันรอน บ่ายหน้าลงมาทางใต้ ระลอกที่เกิดจากสายลมวิ่งเข้าปะทะกราบเรือที่สูงกว่าน้ำไม่ถึงคืบ เขาพายกันมาเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน สองฟากฝั่งที่ลมพัดลอดกิ่งไม้หวีดแว่วเพมือนเพลงที่ระคนกับเสียงขลุ่ยแม่ศรีเมืองเยื้องกราย…
ในฟ้าทุกคนรู้สึกเหมือนมองเห็นสีที่อ่อนนุ่มเหมือนสีรุ้งที่ระบายอยู่แพรวพราย เหลืองแดงชมพูฟ้าเขียวแสด…
ใบหน้าของทุกคนเชิดอย่างทระนง
เรือแล่นลับหายไปกับคุ้งน้ำ
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๕๓๙.

บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ภาวะสงบ พวกชาวบ้านล้วนมองเห็นความสดใสอยู่เบื้องหน้า ภารกิจสำคัญของพวกเขาเสร็จสิ้นแล้ว เรือของเขาแล่นลับหายไปกับคุ้งน้ำ มีใครอีกบ้างไหมจะรู้ว่าพวกเขาเป็นใครได้ประกอบวีรกรรมอะไรไว้บ้าง ดูเหมือนพวกเขาได้พาตัวเองให้หายไปกับคุ้งน้ำโดยไม่ไยดีว่าจะมีใครได่รู้เห็นวีรกรรมของเขาแม้แต่น้อย
เพียงฉากนี้เราก็สามารถที่จะเห็นถึงปรัชญาความคิดจากเรื่องได้อย่างชัดเจน แท้จริงแล้วเหล่าสามัญชนเช่นพวกเขา ยินยอมที่จะกระทำการ “ปิดทองหลังพระ” ให้ชื่อเสียงตัวตนของเขาจมหายไปดั่งต้นหญ้าพืชคลุมดินที่เหี่ยวเฉาแห้งตายไปตามกาลเวลาโดยไม่เหลือร่องรอยให้ใครได้พบเห็น ไม่เหลือเรื่องราวไว้ให้ใครจดจาร
๓.๕ บทสนทนา (Dialogue)
บทสนทนา คือคำพูดโต้ตอบระหว่างตัวละครในนวนิยาย เป็นส่วนประกอบที่ทำให้นวนิยายมีลักษณะคล้ายความจริงมากที่สุด ๒๐ บทสนทนาที่ดีต้องง่ายและเหมาะสมกับบุคลิกลักษณะของตัวละคร อีกทั้งควรจะเป็นบทสนทนาที่เหมือนบทสนทนาที่ใช้กันจริงๆ ในสังคมทั่วไป ยกเว้นนวนิยายสมัยใหม่บางประเภทที่ไม่เน้นความสมจริง
ความที่เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อันเป็นเหตุการณ์ไกลตัว นับเป็นความพยายามของผู้ประพันธ์ที่พยายามใช้จินตนาการเกี่ยวกับการพูดหรือบทสนทนาให้ออกมาในรูปของภาษาที่คิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับภาษาพูดของชาวบ้านในยุคนั้นมากที่สุด โดยการใช้คำศัพท์เก่าๆ และสำนวนจากวรรณคดีเข้ามาช่วยเสริมทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกได้บรรยากาศ เช่นในบทสนทนาระหว่างโตและน้องๆ กับนายทองขาวและพวก ผู้ประพันธ์ได้สร้างบทสนทนาที่แสดงให้เห็นทั้งฐานะของตัวละครที่แตกต่างกันด้วยวัยและความรู้สึกที่ตัวละครมีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกที่ดีมีเมตตาต่อสามพี่น้องของนายทองขาว ความเคารพนับถือที่สามพี่น้องมีต่อนายทองขาว หรือกระทั่งการแสดงความรู้สึกในทางลบที่สามพี่น้องมีต่อหมื่นเพ็ชร์ ดังตัวอย่าง
(นายทองขาวพูดกันโตและพวก)
“กูจะขึ้นไปบนเรือนสักกระเดี๋ยว พวกเอ็งกินข้าวให้อิ่มเถอะ ไม่มีอะไรหรอก”
นายเดินไปยังเรือนใหญ่โดยไม่พูดจากกับอาจารย์
……
“เอ็งเป็นใคร มาแต่ไหน”
“ขอประทาน ข้าได้กราบให้ท่านผู้ใหญ่ทราบหมดแล้ว” เจ้าน้อยตอบ
“ก็ข้ายังไม่รู้นี่หว่า”
“พี่คนนั้นคงจะเล่าให้ท่านอาจารย์ฟังได เพราะอยู่กับท่านผู้ใหญ่มาตลอด”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๙–๑๐.
หรือในอีกตอนว่า
“จะเอายังไงก็ทำให้เป็นกิจลักษณะ เอ็งเป็นมวยหรือเปล่า” นายถาม
ยังไม่ทันที่เจ้าเล็กจะตอบ อาจารย์สอดขึ้นว่า
“อย่างอื่นก็ยังได้ ดาบเป็นไง”
“ข้าไม่มีฝีมืออะไร ไม่อาจจะหาญสู้ดอก”
“ถ้าเอ็งพอเป็นมวย ลองดูก็ได้ กูจะมีรางวัลให้ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ”
“อาจารย์สอนไว้ไม่ให้ใช้วิชาเพื่อสินจ้างรางวัล”
“งั้นก็ลองดูเฉยๆ ถ้าไม่อยากได้รางวัล” อาจารย์รุก
“อาจารย์สอนไว้อีกว่า อย่าใช้วิชาเพื่ออวดตนหรือเพื่อข่มคนอื่น”
“ข่ม” อาจารย์พูดเสียงฉุนเฉียว “เอ็งนึกว่าเอ็งแน่นักหรือ”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๑๒–๑๓.
ในบางตอน ผู้ประพันธ์จะใช้บทสนทนาเป็นตัวบ่งบอกความเป็นมาของตัวละคร เช่น การ
สอดแทรกบทระพันธ์จากวรรณคดีไว้ในคำพูดของน้อย หรือการพูดตามหลักตำราพิชัยสงครามของทั้ง
สามพี่น้อง ก็ย่อมชี้ให้เห็นความเป็นมาของบุคคลทั้งสามได้เป็นอย่างดีว่ามีฐานะมีตระกูลที่ค่อนข้างดี
ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี ซึ่งคำพูดในบทสนทนาเหล่านี้ได้สร้างความยอมรับขึ้นในหมู่ของชาวบ้าน
โดยที่ทั้งสามคนไม่จำเป็นต้องตั้งตนเป็นหัวหน้า เช่น บทสนทนาระหว่างน้อยกับลุงคำที่เกี่ยวกับการหา
วิธีต่อสู้กับอาวุธปืนของทหารพม่าว่า
“ใช่ลุง มันมีสองทาง คือหนีให้พ้นวิธีกระสุนเป็นทางหนึ่งถ้าไม่คิดจะสู้และไม่อยากตาย แต่อย่างที่ว่าทีแรกต้องเอาระยะมันออกไปเสีย คืออย่าไปขวางทางมัน ต้องจู่โจมเข้าประชิดตัวด้วยอาวุธที่เรามีแต่สั้นกว่า คือดาบนี่แหละ ข้าถึงว่า เอาระยะออกไปเสียปืนก็จะเหมือนไม้ท่อนหนึ่ง”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๘๑.
หรือในคำพูดวิพากษ์วิจารณ์วิธีการรบของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งถึงแม้จะกล่าวอย่างยืดยาวแต่ก็ย้ำให้เห็นถึงความเป็นมาของตัวละครได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า
“สำหรับเรื่องการรบของชาวบ้านบางระจัน ที่พวเราถือเอามาเป็นแบบฉบับของความแลก้วกล้าสามารถอย่างที่จะหาไหนเสมอเหมือนได้ยาก มีอะไรหลายอย่างที่สอนเรา ในข้อหนึ่งที่ข้าเห็น ไม่รู้เหมือนกันว่าจะผิดหรือถูก พ่อแม่พี่น้องที่กล้าหาญทั้งหลายใช้วิธีการรบอย่างเดียวกันมาตลอด ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นทีแรกที่รบ ในที่โล่งแจ้งนั้นก็ถูกแล้ว เพราะกำลังข้าศึกน้อยกว่า แต่ตอนสร้างค่ายขึ้นนั้นเริ่มต้นผิดพลาดแล้ว เพราะเท่ากับเป็นการปักหลักอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหว ถึงจะมีการรบนอกค่ายได้ชัยชนะก็เป็นเพราะความแกล้วกล้าอาจหาญของนักรบมากกว่าจะเป็นวิธีรบที่ดี เมื่อชนะแล้วก็เชื่อว่าทำถูกแล้ว พอข้าศึกทุ่มกำลังมากเข้าก็เลยเคลื่อนไหวไม่ได้กลายเป็นเสียเปรียบไป กำลังที่เล็กจะต่อสู้กำลังที่มากกว่าได้ก็ต้องเคลื่อนย้ายหลบหนีโดยอาศัยภูมิประเทศ ในตำราพิไชยสงครามเองก็มีบอกไว้ถึงกลศึกกลหนึ่งที่เรียกว่า ‘เถื่อนกำบัง’ ถึงจะไม่ตรงทีเดียวก็อาจจะเอามาปรับใช้ได้ แล้วเมื่อข้าศึกมาตั้งค่ายประชิดล่อให้เราออกรบ ท่านผู้กล้าหาญเหล่านั้นก็กลับไปเล่นตามวิธีที่ข้าศึกกำหนดให้เล่นต้องการจะหักเอาชัยชนะให้ได้ แทนที่จะคิดว่าเรากำลังน้อยต้องทำการรบอย่างยืดเยื้อ ค่อยๆ บั่นทอนกำลังข้าศึกไทีละน้อย…”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๘๑–๘๒.

๓.๖ ตัวละคร (Character)
ตัวละครหมายถึงคนหรือผู้ที่มีบทบาทในการประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเรื่องหรือผู้ที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามโครงเรื่อง ๒๕ ตัวละครโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
๑. ตัวละครแบนราบ (flat character) ซึ่งมองเห็นลักษณะนิสัยเพียงด้านเดียว เช่น ดีหรือชั่ว ไม่ซับซ้อนเหมือนมนุษย์ในความเป็นจริง แม้เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปรอย่างใด แต่ลักษณะของตัวละครก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนไปตามเหตุการณ์
๒. ตัวละครที่มีสองด้าน (round character) ซึ่งมีลักษณะนิสัยซับซ้อนสมจริง มีหลายด้านอยู่ในตัวคละกันไปและเปลี่ยนแปรไปตามเหตุการณ์ สภาพแวดล้อมเงื่อนไขต่างๆ ได้ ๒๖
ตัวละครในเรื่องนี้มีทั้งตัวละครประเภทแบนราบที่มองเห็นลักษณะสำคัญเพียงด้านเดียวโดยไม่มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด และประเภทที่เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการ
ตัวละครสำคัญของเรื่องอาจจะดูไม่เด่นชัดนัก ไม่ว่าจะเป็น โต น้อย เล็ก นายทองขาว พะยอม ลำพู คล้อง หรืออีกหลายๆ คน สำหรับโต น้อย และเล็ก ซึ่งเป็นตัวแสดงพฤติกรรมที่ทำให้เรื่องดำเนินไปได้ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีบทบาทเด่นในลักษณะของตัวเอกมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแนวคิดและปรัชญาของเรื่องที่มุ่งชี้ให้เห็นว่า คนทุกคนในกลุ่มล้วนมีความเท่าเทียมกัน มีบทบาทเสมอกัน เพียงแต่ใช้ความรู้ความสามารถของตนไปในคนละทางกัน ดังนั้นบทบาทของสามพี่น้องจึงยังไม่เด่นชัดเจนพอ อีกทั้งก็ดังดูเป็นตัวละครในอุดมคติที่ทั้งเก่งและดี ยามตกทุกข์ได้ยากก็จะมีคนคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ทั้งโต น้อย และเล็ก ล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแต่ไม่เปิดเผยหรือโอ้อวดตัวเอง อันเป็นคุณลักษณะของคนในอุดมคติมากกว่าคนในความเป็นจริง ในขณะที่ตัวละครฝ่ายหญิงก็ดูเหมือนว่าผู้ประพันธ์จะพยายามเน้นให้เห็นความเก่งกล้าสามารถในเชิงสู้รบที่ทัดเทียมผู้ชาย โดยไม่มีการวางพื้นฐานความเป็นมาของตัวละครที่เด่นชัดนัก
ในบรรดาตัวละครทั้งหมด พะยอมนับเป็นตัวละครที่ค่อนข้างจะสร้างได้สมจริงและค่อนไปทางตัวละครประเภทที่มีลักษณะสองด้านหรือ round character ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครอย่างเด่นชัดกว่าตัวละครอื่นใด พะยอมเล่าถึงชีวิตของตนเองว่า
“พ่อข้าเป็นนายกองนาของเจ้านายในวัง ทีแรกข้าก็ทำงานทั่วๆ ไปเหมือนอย่างชาวบ้านนั้นแหละ แต่พอโตจะเป็นสาว มีคนในวังมาพูดอะไรหรือยังไงข้าก็จำไม่ได้ พ่อตั้งใจจะเอาข้าไปถวายตัวในวัง ข้าก็เลยไม่ได้ทำอะไร เพราะพ่อไม่ยอมให้ทำ”
“พอข้าโกนจุกแล้ว ก็รอคนในวังจะส่งข่าวมาว่าจะให้เข้าไปถวายตัวเมื่อไร ต่อมาก็มีคุณท้าวอะไรไม่รู้มาสอนให้ข้าหัดรำอยู่สองสามวันแล้วก็กลับไป ข้าก็ไม่ได้รำแรมอะไรเท่าไร อีกนานเกือบปีได้ทั้ง พอถึงพาข้าไปถวายตัวกับเสด็จในกรมในวัง”
“ข้าอยู่ได้สักเดือน ระหว่างนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร ข้าสังเกตว่ามันมีอะไรยุ่งๆ กันอยู่…”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๒๕–๒๖.

เมื่อพะยอมหลบหนีพวกโจรไปพบกับโตและพวกและพากันไปอยู่กับยายเจิม บทบทของพะยอมก็จะค่อยๆ พัฒนาไปจากลักษณะที่เป็น “กุลสตรี” ทำงานหนักไม่เป็นกลายเป็นผู้พร้อมที่จะทำงานหนักและฝึกฝนวิชาการต่อสู้จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครหญิงที่มีวิชาฝีมือเก่งที่สุดในเรื่องนี้ ในขณะที่ตัวละครหญิงอื่นๆ ผู้ประพันธ์ไม่ได้สร้างภูมิหลังที่ชัดเจนนัก (แม้กระทั่งลำพู) ทำให้เราไม่อาจที่จะเห็นพัฒนาการได้ชัดเหมือนพะยอม ทั้งๆ ที่ผู้ประพันธ์พยายามเน้นตัวละครฝ่ายหญิงค่อนข้างมาก เพื่อเน้นความคิดเกี่ยวกับความสามารถของสตรีที่มีทัดเทียมบุรุษเพศ ในยามศึกสงครามสตรีก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าบุรุษเพศไม่ว่าจะเป็นผู้คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หรือการออกสู่แนวหน้าเคียงคู่กับบุรุษ  อย่างไรก็ตาม นับเป็นความพยายามของผู้ประพันธ์ที่พยายามสร้างบทบาทของสตรีในฐานะที่เป็นผู้มีความสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ไม่น้อยหน้าบุรุษแม้แต่น้อย
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ค่อนข้างจะเห็นถึงความจงใจที่จะสร้างสีสรรให้กับเนื้อเรื่องเพื่อให้มีความเป็นนวนิยายมากจนเกินไปก็คือ ความพยายามที่จะสร้างตัวละครชายหญิงให้เป็นคู่ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครที่ย่อมมีอารมณ์ความรู้รัก รัก ชอบ โกรธ หลง เป็นเรื่องธรรมดา ทำให้กลายเป็นความไม่สมจริง ไม่ว่าจะเป็นคู่ของโตกับคล้องลูกสาวของนายทองขาว น้อยกับพะยอม เล็กกับลำพู หรือแม้กระทั่งแก้วกับออม สิ่งที่แทนที่จะสร้างสีสรรความเป็นนิยายก็กลับกลายเป็นความจงใจที่เกินจริงไปเสียในที่สุด
การสร้างตัวละครที่อาจจะบกพร่องไปบ้างเหล่านี้ อาจจะเนื่องมาจากผู้ประพันธ์ต้องการที่จะเน้นนำเสนอปรัชญาของเรื่องก็เป็นได้ จึงพยายามสร้างบทบาทของตัวละครให้สอดคล้องกับแนวคิดหรือแก่นของเรื่อง จนกลายเป็นความไม่สมจริงในบางส่วนไป
๓.๗ กลวิธีการเล่าเรื่อง(Point of View)
คำว่า Point of View มีผู้แปลได้หลายอย่าง เช่น กลวิธีการเล่าเรื่อง มุมมอง ทัศนะ มุมมองของเรื่องหรือกลวิธีการนำเสนอ หมายถึงวิธีการในการนำเสนอเนื้อเรื่อง ตัวละคร ฉาก และเหตุการณ์ต่างๆ ของผู้แต่งโดยผ่านสายตาหรือมุมมองของใคร กลวิธีการเล่าเรื่องของนวนิยายหรือบันเทิงคดีทั่วๆ ไป มีหลายวิธีเช่น ๒๘
๑. มุมมองของผู้เล่าเรื่องที่ปรากฏในเรื่องในฐานะตัวละครในเรื่อง ผู้เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองนี้จะปรากฏอยู่ในเรื่องในฐานะของตัวละครผู้มีบทบาทอยู่ในเรื่องและมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ผู้เล่าเรื่องจะใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งแทนตัวเองในขณะเล่าเรื่อง มุมมองนี้ตัวผู้เล่าอาจเป็นตัวละครเอกหรือหรือตัวละครรองผู้รู้เหตุการณ์ในเรื่อง
๒. มุมมองที่ผู้เล่าไม่ปรากฏตัวในฐานะที่เป็นตัวละครในเรื่อง ลักษณะของการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองแบบนี้ ผู้เล่าเรื่องจะไม่ปรากฏตัวในเรื่องในฐานะที่เป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง มุมมองแบบนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะย่อย ได้แก่ ลักษณะที่ผู้เล่าเรื่องเป็นผู้รู้แจ้ง ผู้เล่าเรื่องรู้แจ้งเฉพาะตัวเอก และผู้เล่าเป็นแบบภววิสัยไม่ได้ปรากฏตัวในเรื่องและจำกัดตัวเองลงเป็นเฉพาะผู้นำเสนอภาพการกระทำ การพูดจาสีหน้าท่าทางของตัวละครเท่านั้น
สำหรับมุมมองหรือกลวิธีในการเล่าเรื่องของเสนีย์ เสาวพงศ์นั้นจัดอยู่ในประเภท ผู้เล่าเรื่องเป็นผู้รู้แจ้ง ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องในลักษณะที่ผู้เล่ารู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องที่เล่าและมีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมตัวละคร ผู้เล่าเรื่องแบบนี้เป็นผู้รู้แจ้ง สามารถทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความคิดที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึกของตัวละคร สามารถวิเคราะห์จิตใจของตัวละครได้ด้วย เพียงแต่ผู้ประพันธ์พยายามที่จะใช้กลวิธีการตัดต่อเรื่องโดยการบ่งบอกพฤติกรรมของตัวละครสำคัญที่เป็นแกนกลางของเรื่องทั้งสามคนสลับกับไปมา และมีการเล่าแบบย้อนเหตุการณ์ในบางตอน เช่นในตอนที่น้อยถูกจับตัวไปขังไว้ในคุกที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ก็เปิดตอนด้วยเหตุการณ์ที่น้อยรู้สึกตัวขึ้นมาในคุกว่า
“น้อยลืมตาขึ้นมาในความมืด ต้องกระพริบตาหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าที่ตานั้นไม่ได้มีอะไรปิดอยู่ และไม่ได้หลับตา พร้อมๆ กับที่ลืมตา จมูกได้กลิ่นอับๆ ปนความชื้น”
จากนั้นก็บรรยายถึงสภาพของน้อยในคุกและให้น้อยหวนระลึกถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะโดนจับโบยตีและจำขังไว้ตั้งแต่ต้นที่ออกเรือเดินทางลงใต้สู่บางกอก
กลวิธีการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งก็คือ การนำเอาบทประพันธ์จากวรรณคดีสำคัญๆ มาสอดแทรกเอาไว้ในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นมากก็คือนำมาใช้ในการมาเปิดเรื่องแต่ละตอนเพื่ออธิบายเนื้อความสำคัญในตอนนั้นๆ เช่นในตอนที่ ๒ ซึ่งเป็นตอนที่ทั้งสามพี่น้องช่วยเหลือพะยอม น้อยรู้สึกพึงพอใจพะยอม ก็เอาคำประพันธ์จากลิลิตพระลอมาเป็นชื่อตอนหรือเปิดตอนว่า “สุกรมพะยอมพึง ใจพี่ พระเอย” หรือในตอนที่น้อยเริ่มการฝึกฝนวิชาการต่อสู้ให้กับชาวบ้านที่บ้านยายเจิม ซึ่งมีการกล่าวถึงตำราพิไชยสงครามด้วย ผู้ประพันธ์ก็คัดเอาความตอนหนึ่งในตำราพิไชยสงครามมาเปิดตอนว่า
“โหราศาตพิไชยสงคราม มีแจ้งทุกนาม
จงเรียนให้รู้แต่งคน”
การนำเอาคำประพันธ์มาเปิดตอนแต่ละตอนนี้ เข้าใจว่าผู้ประพันธ์คงได้รับอิทธิพลมาจากธรรมเนียมการแต่งนวนิยายจีนโบราณที่นิยมยกคำประพันธ์ขึ้นมาเปิดเรื่องแต่ละตอน และสอดแทรกสลับกับร้อยแก้ว ๒๙ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสามก๊ก ซ้องกั๋ง ความฝันในหอแดง หรือไซอิ๋ว เพื่อประโยชน์ในการอธิบายเนื้อเรื่องหรือพฤติกรรมสำคัญของตัวละครในตอนนั้นๆ เช่นในบทที่ ๑ ของเรื่องสามก๊กอันเป็นตอนที่เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยสาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อและร่วมกันปราบโจรฏฃโพกผ้าเหลือง ก็เปิดเรื่องด้วยบทกวีว่า
“สามชายใจเด็ดสาบานตัวในสวนท้อ
ปราบพวกโจรผ้าเหลือง
ประเดิมชัยเกียรติประวัติวีรชน”
วรรณไว พัธโนทัย (แปลและเรียบเรียง). สามก๊ก ฉบับแปลใหม่ เล่ม ๑. ๒๕๓๘. หน้า ๑.
ซึ่งกลวิธีเช่นนี้นับเป็นกลวิธีที่น่าสนใจและให้บรรยากาศของความเป็นนวนิยายอิงประวัติเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว

๔. วินิจฉัยสาร

เมื่อเสนี เสาวพงศ์ เขียนนวนิยายเรื่องปีศาจในปี พ.ศ.๒๔๙๗ เรื่องราวของชาวบ้านที่รวมตัวกันต่อต้านทหารญี่ปุ่นด้วยวิธีการต่างๆ อาจเป็นเพียงส่วนประกอบที่เป็นโครงเรื่องย่อยแทรกเอาไว้ในนวนิยายเรื่องนั้น เพื่อยืนยันถึง“การต่อสู้ของสามัญชน” ที่มีต่อผู้รุกรานหรือยึดครองทรัพย์สินหรือชาติบ้านเมืองของพวกเขา โดยไม่หวังผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่โครงเรื่องหลักของเรื่องมุ่งเสนอการต่อสู้ระหว่างชาวนากับนายทุนผู้พยายามแย่งที่ดินไปจากการครอบครองของพวกเขาหลังจากนั้นเป็นเวลา เมื่อเสนีย์ เสาวพงศ์กลับมาเขียนหนังสืออีกครั้งหลังเกษียณอายุ แนวคิดนี้ก็กลายเป็นแนวคิดหลักของเรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” ที่อาศัยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลังกรุงแตกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นเค้าเรื่อง สารของเรื่องจึงไม่เพียงนำเสนอพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ไม่มีในบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นผู้ที่มีบทบาทในการสร้างระวัติศาสตร์ยอ่มไม่ใช่มีเพียงกลุ่มชนชั้นนำของสังคมเพียงกลุ่มเดียว แต่กลุ่มคนที่เป็นสามัญชนต่างหากที่เป็นผู้สร้าง หากแต่เรื่องราววีรกรรมหรือชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขามิได้มีการบันทึกไว้ หรือพวกเขาไม่ยินยอมที่จะได้รับการบันทึกเอาไว้ ตัวละครชาวบ้านใน “คนดีศรีอยุธยา” จึงผละจากกองทัพพระยาตากกลับไปดำรงชีวิตตามวิถีทางบของ “สามัญชน” โดยไม่ไยดีว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยปฏิบัติวีรกรรมอันลือลั่น ไม่ไยดีว่าจะได้รับยศถาบรรดาศักดิ์หรือคำยกย่องใดๆ ต่างจากกลุ่มคนที่เป็นระดับนำของสังคมอันได้แก่เหล่าบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายที่เริ่มมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของหมู่หาญ ความเป็นคนหูเบาของนายกองที่เป็นนายของหมู่หาย หรือแม้แต่พฤติกรรมของนายสังข์ หมื่นเพ็ชร์ และที่แสดงความมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างเห็นได้ชัด หาวิธีการกำจัดคู่แข่งของตนโดยไม่คำนึงประโยชน์ของส่วนรวม คำกล่าวของนายกองใหญ่ที่มีต่อแก้วภายหลังการจากไปของโตและพวกพ้องที่ว่า
“แก้วเอ๋ย” นายกองใหญ่พูดเสียงพร่าด้วยความตื้นตันใจ “ชาวบ้านของเรานั้นดีแสนดีน่ารักน่านับถือ เขาร่วมทำงานใหญ่ขนาดนี้โดยไม่เรียกร้องอะไรเลย หรือถึงจะให้ก็ยังไม่ยอมรับมีแต่เสียสละ เสียสละ ส่วนคนที่ทำราชการ เอ็งอยู่ต่อไปจะได้เห็นเอง ใช้ให้ทำอะไรหน่อยก็เรียกร้องขอของแลกเปลี่ยน จะต้องได้โน่นจะต้องเป็นนี้ถึงจะทำ บางคนทำอะไรนิดหน่อยก็เรียกร้องทวงบุญคุณเสียล้นเหลือ คนอย่างนี้มันมีจริงๆ ถึงจะเป็นพวกส่วนหน่อยก็เถอะ…”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๕๓๘

ที่ยกมานี้ย่อมเป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความจริงของประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน และแสดงให้เห็นความจริงทางสังคมและการเมืองทุกยุคสมัย กระทั่งปัจจุบัน
สารที่สำคัญของเรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” จึงไม่ได้เป็นเพียงนวนิยายสะท้อนประวัติศาสตร์ในยุคหนึ่งเท่านั้น แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการจำลองประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงมากนักหรือเกือบจะไม่มีผู้ใดกล่าวถึงเลย ให้ภาพความจริงของมนุษย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์และผู้เสวยความสุขจากการสร้างประวัติศาสตร์ของสามัญชนได้อย่างเด่นชัด
ชื่อของวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ที่อยู่ในความทรงจำ และอยู่ในตำราให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียน มักเป็นชื่อของผู้มี “บุญญาบารมี” แต่ยากที่จะมีการบันทึกเหล่าผู้เสียสละชีวิตเลือกเนื้อปกป้องชาติบ้านเมืองที่ร่างกายถมทับแผ่นดินคนแล้วคนเล่าจำนวนมหาศาลนอกจากสารหลักที่เน้นความสำคัญของสามัญชนแล้ว เสนีย์ยังนำเสนอสามัญชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ในประวัติศาสตร์มักเห็นความสำคัญเพียงเป็น “เครื่องบำเรอ” ความใคร่ของบุรุษเพศชิ้นหนึ่งเท่านั้น หรือเป็นเพียงช้างเท้าหลังที่สุดแท้แต่ช้างเท่าหน้าอย่างบุรุษเพศจำลิขิตชีวิตให้ เสนีย์ได้สร้างภาพของสตรีอีกแบบหนึ่งที่เต็มไปด้วยความแข็งแเกร่ง ความเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองไม่แพ้บุรุษ สร้างภาพให้เห็นความจริงว่า โดยแท้จริงแล้วสตรีก็มีบทบาทความสำคัญเท่าเทียมกับชาย มีความสามารถเท่าเทียมกับชายซึ่งในประวัติศาสตร์ก็มีสตรีเยี่ยงนี้อยู่ไม่น้อย เพียงแต่สตรีเยี่ยงนี้ที่ได้รับการบันทึกไว้นั้นมักจะเป็นสตรีชั้นสูงหรือระดับเจ้านายเสียมากกว่า
ในด้านของการรวมตัวกันของเหล่าสามัญชน เสนีย์ได้เน้นให้เห็นถึงลักษณะการรวมตัวที่ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครหรือเป็นหัวหน้าใคร อันค่อนข้างจะเป็นลักษณะที่เป็นอุดมคติมากกว่าที่จะเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไม่ว่ายุคสมัยใด แต่จะอย่างไรก็ตาม การสร้างอุดมคติในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ให้มีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ซึ่งสารนี้น่าจะคาดคิดได้ว่าผู้ประพันธ์มุ่งที่จะเสนอในเชิงของการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อการมีอำนาจ มากกว่าที่จะช่วยกัน ร่วมมือกัน ให้แต่ละคนสามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

๕. บทสรุป

นวนิยายเรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงจินตนิยายที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์ทางระวัติศาสตร์ แต่ความคิดสำคัญหรือปรัชญาที่ปรากฏอยู่ในเรื่องก็สามารถนำมารับให้เข้ากับสภาพปัจจุบันของสังคมไทยได้ไม่น้อยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ภายหลังไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ระชาชนบ้านแตกสาแหรกขาดแบ่งแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
“ขณะนั้น แต่บรรดาประชาชนทั้งหลายซึ่งหนีพม่าเหลืออยู่นั้น ต่างก็คุมสมัครพรรคพวกครอบครัวอยู่กันเป็นพวกเป็นเหล่า ผู้ใดที่มีฝีมือเข้มแข็งก็ตั้งตัวเป็นนายชุมนุม ส้องสุมคุ้มครองผู้คนครอบครัวเป็นอันมาก ตั้งชุมนุมอยู่แห่งหนึ่ง แต่ชุมนุมตั้งอยู่ดังนี้มีในจังหวัดแขวงกรุงและแขวงหัวเมืองและสวน และหัวเมืองอื่นฝ่ายเหนือใต้เป็นอันมากหลายแห่งหายตำบล ขัดสนด้วยข้าวปลาอาหารและเกลือไม่มีจะกิน ต่างรบพุ่งชิงอาหารกัน ชุมนุมนี้ยกไปตีชุมนุมนั้น ชุมนุมนั้นไปตีชุมนุมโน้น ต่อๆ กันไป ที่นายชุมนุมไหนเข้มแข็งก็มีชัยชำนะ และเกิดฆ่าฟันกันเป็นจลาจลไปทั่วทั้งแผ่นดินในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัลป์และทุพภิกขันดรกัลป์…”
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. ๒๕๒๕. หน้า ๒.

บ้านเมืองในปัจจุบันดูไปก็มิแตกต่างไปจากเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนนัก ปัจจุบันแม้จะไม่ตกอยู่ในสภาพเมืองขึ้นตามความหมายในประวัติศาสตร์โบราณ แต่มีอะไรที่แตกต่างไปจากการตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งที่กำลังเข้ามามีอำนาจเหนือทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ในขณะที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองยังคงไม่ตระหนัก ยังคงแบ่งก๊กแบ่งเหล่าแย่งชิงอำนาจและทรัพย์สินของประเทศเป็นของตนโดยไม่ได้คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติทั้งๆ ที่ปากพูดเสมอว่าทำเพื่อชาติบ้านเมือง

บรรณานุกรม
กอบกุล อิงคุทานนท์. ศัพท์วรรณกรรม. สำนักพิมพ์ษรฉัตร,ม.ป.ป.
ทองสุก เกตุโรจน์ (แปลและเรียบเรียง) อธิบายศัพท์วรรณคดี. กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๒๙.
ธัญญา สังขพันธานนท์. วรรณกรรมวิจารณ์. นาคร,๒๕๓๙.
มาลินี ดิลกวณิช “เอกลักษณ์ไทยในสามก๊ก : รูปแบบคำประพันธ์.” วารสารธรรมศาสตร์. ๑๓ : ๒ มิถุนายน ๒๕๒๗. หน้า ๑๒๔–๑๓๓.
วรรณไว พัธโนทัย (แปลและเรียบเรียง). สามก๊ก ฉบับแปลใหม่ เล่ม ๑. ๒๕๓๘. หน้า ๑.
วิภา กงกะนันท์. วรรณคดีศึกษา. ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๒.
สุดารัตน์ เสรีวัฒน์. วิวัฒนาการของเรื่องสั้นในเมืองไทยตั้งแต่แรกจนถึง พ.ศ.๒๔๗๕. หน่วยศึกษานิเทศก์, กรมการฝึกหัดครู,๒๕๒๒.
สุพรรณี วราทร ประวัติการประพันธ์นวนิยายไทย. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์,๒๕๑๙.
สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร. พระอภัยมณี การศึกษาในเชิงวรรณคดีวิจารณ์ . สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, ๒๕๑๘.
เสถียร จันทิมาธร(บรรณาธิการ). ๗๒ ปี ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนสามัญชน. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๓.
เสนีย์ เสาวพงศ์. คนดีศรีอยุธยา. สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๒๕..


อุดม หนูทอง., พื้นฐานการศึกษาวรรณคดีไทย. สงขลา : โรงพิมพ์เมืองสงขลา,๒๕๒๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 6

5 ศึกชิงเจ้าปฐพีปลายยุครณรัฐ การสัประยุทธ์ระหว่างฉินกับเจ้า ฉีและเว่ย ในปลายยุคจ้านกว๋อ การรบสู้ระหว่างแคว้นต่างๆ ยิ่งเข้มข้นข...