วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 1




ปฐมบท :

บนฟากฝั่งแม่น้ำสองสายนี้มีชีวิตและตำนาน


ลำน้ำสองสายทอดกายขนานพาดผ่านผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล จากเทือกเขาและที่ราบสูงทางทิศตะวันตกสู่ห้วงมหาสมุทรในเบื้องบูรพทิศ  ดูประหนึ่งมังกรยักษ์คู่หนึ่งซึ่งเผ่นโผนโจนทะยานผ่านขุนเขาหุบเหวห้วย ทุ่งหญ้า ทะเลทราย แลทุ่งราบอันกว้างใหญ่ไปสู่ผืนน้ำที่ไกลลิบสุดสายตาฉะนั้น
ลำน้ำสองสายที่ทอดกายยาวเหยียดแตกกิ่งก้านสาขากระจายไปทั่วผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ดูคล้ายประหนึ่งเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของผืนแผ่นดินให้คงอยู่ยืนยาวจนกลายเป็นอมตะ นับแต่อดีตกาลยาวนานโพ้นจนกระทั่งปัจจุบัน  ชีวิตอันมากมายได้ถือกำเนิด เติบโตและดับสลายอยู่บนสองฟากฝั่งของลำน้ำทั้งสองสาย  ณ ที่นี้ พวกเขาได้รังสรรค์สั่งสมและถ่ายทอดอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า  จนเรื่องราวของพวกเขาได้รับการบอกเล่ากลายเป็นตำนาน และนิยายที่เล่าขานกันไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นตำนาน และนิยายแห่งชีวิตและการต่อสู้
บนสองฟากฝั่งของลำน้ำทั้งสองสายจึงเป็นแหล่งที่มีเรื่องเล่า มีตำนาน มีนิยายแห่งชีวิตและการต่อสู้ปรากฏอยู่ทุกหัวระแหง
เป็นเรื่องราวแห่งการต่อสู้เพื่อเอาชีวิต เพื่อผลประโยชน์ และเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งในยุทธภพของพวกเขา
เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ที่ก่อให้เกิดผลทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลายสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานไกลนับพันนับหมื่นปี
แม่น้ำทั้งสองสายทั้งสองสายนี้ คือหวงเหอ(ฮวงโห)และฉางเจียง(แยงซี)


หลู่ซิ่น บิดาแห่งวรรณคดีจีนสมัยใหม่กล่าวถ้อยคำอมตะไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเปิดประวัติศาสตร์ดู  ประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้บันทึกว่าเป็นของปีไหนศกไหน  ทุกๆ หน้าเขียนไว้ด้วยตัวอักษรตลบตะแลงว่า ‘เมตตาจิต, ความสัตย์, ศีลธรรม’ ข้าพเจ้านอนยังไงๆ ก็ไม่หลับ เพ่งพินิจอยู่ครึ่งคืน จึงได้เห็นตัวอักษรจากแถวอักษรที่เรียงไว้ทั้งเล่ม มันเขียนไว้ด้วยหนังสือสองตัวว่า ‘กินคน’…”
                                     (สำนวนแปล เดชะ  บัญชาชัย)
ที่‘กินคน’ล้วนสืบเนื่องมาจากคำ “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์”
เป็นอำนาจที่มีผู้คนไม่น้อยมุ่งแสวงหาและรักษาไว้กับตนและพวกพ้อง
เป็นอำนาจที่พวกเขาเหล่านั้นรู้ว่าเป็นที่มาของผลประโยชน์นานัปการ
เจ้าสำนักบู๊ตึ้ง-ชงฮือเต้าเจี้ยง แห่ง “กระบี่เย้ยยุทธจักร ได้เคยกล่าวกับเหล็งฮู้ชงว่า
“นับแต่โบราณกาลมา  ไม่ทราบมีวีรบุรุษผู้กล้ามากน้อยเท่าใด  ยากผ่านด่านอำนาจได้  อย่าว่าแต่เป็นฮ่องเต้  ในยุทธจักรที่เกิดการแก่งแย่งชิงดี ปั่นป่วนด้วยมรสุม ล้วนสืบเนื่องจากคำ ‘อำนาจ’ ทั้งสิ้น”
                                     (สำนวนแปล น. นพรัตน์)
อำนาจ- คำๆ นี้นับมีอำนาจและหอมหวานยิ่งที่เหล่าผู้คนในยุทธภพล้วนใคร่ที่จะให้เกิดมีขึ้นกับตน พวกเขาปรารถนาที่จะเสพย์ เมื่อได้เสพย์ก็ติดใจ ยิ่งเสพย์ยิ่งติดจนมิอาจไถ่ถอนตัวให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งอำนาจนั้นได้  มีอำนาจอยู่เหนือผู้คนเพียงจำนวนน้อยก็ปรารถนาที่จะมีให้มากขึ้น เมื่อมีมากขึ้นแล้วก็ปรารถนาจะมีให้มากขึ้นอีก จนถึงที่สุดก็อยากที่จะมีให้มากที่สุดเหนือผู้คนทั้งแผ่นยุทธภพ และเมื่อมีอำนาจสมดั่งความปรารถนาแล้วก็ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อที่จะรักษาอำนาจนั้นให้คงอยู่กับตนตราบนานเท่านาน
ยุทธการแห่งการแสวงหาและรักษาอำนาจของผู้คนในยุทธภพล้วนได้รับการจดจารและเล่าขานสืบต่อกันมาไม่มีที่สิ้นสุด เป็นยุทธการที่บางครั้งอาจดูคล้ายกับมีความยุติธรรมแลกอปรด้วยคุณธรรมยิ่ง
และบางครั้งก็ดูคล้ายกับไร้คุณธรรมยิ่ง
หวงตี้- ปฐมกษัตริย์ของจีน เป็นหนึ่งในห้ากษัตริย์ในยุคแรกๆ ที่ชาวจีนถือเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีความเฉลียวฉลาดและความสามารถยิ่ง แต่การก้าวขึ้นสู่ความเป็นกษัตริย์ไยมิใช่หวงตี้ต้องปราบปรามทำลายชีวิตผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยไปจำนวนไม่น้อย
การสืบทอดอำนาจจากหวงตี้สู่จวนซู่ ตี้คู้ ถังเหยา(เงี้ยวเต้) อี๋ซุ่น(ซุ่นเต้) และหยู อาจยึดหลักการคัดเลือกคนดีมีความสามารถ  แต่ในที่สุดฉี่ซึ่งเป็นลูกชายของหยูก็ทำลายกฎเกณฑ์ที่ดูดีงามนี้เสีย  เปลี่ยนแปลงการสืบทอดอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นระบอบจากพ่อไปสู่ลูก  สร้างธรรมเนียมปฏิบัติในรูปแบบใหม่ที่ยึดถือสืบทอดต่อมานับพันปีได้สำเร็จ
ที่ฉี่กระทำเยี่ยงนี้ล้วนเนื่องจากคำ ‘อำนาจ’
เนื่องเพราะคำ‘อำนาจ’ตลอดระยะเวลาเกือบพันปีในยุคชุนชิว- จ้านกว๋อ แผ่นดินจีนจึงถูกแบ่งเป็นแคว้นต่างๆ เกิดสงครามระหว่างแคว้นครั้งแล้วครั้งเล่ามิเคยขาด ภายในแต่ละแคว้นก็เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจอยู่เสมอๆ  ชีวิตผู้คนจำนวนนับล้านล้วนถูกทำลายล้างเพียงเพื่อให้คนบางคนบางกลุ่มได้เสวยอำนาจเท่านั้น
ปลายยุคจ้านกว๋อ ฉินหวางเจิ้งอาจเป็นผู้ที่มีกำลังแข็งแกร่งที่สุด สามารถใช้ผู้คนต่อสู้เอาชัยเหนือเจ้าผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ได้สำเร็จ  สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิหนึ่งเดียวของแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลได้สำเร็จ แต่ชีวิตผู้นับล้านที่จบสิ้นไปกลับเป็นเพียงบันไดก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แห่งอำนาจของฉินหวางเจิ้งเท่านั้น
เล่าปังที่เป็นชนชั้นชาวนาในปลายราชวงศ์ฉินอาจลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจทรราชย์ของฉินหวางเจิ้งเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมอย่างน่ายกย่องยิ่ง  แต่เมื่อเล่าปังเริ่มรู้จักกับคำ “อำนาจ” การณ์กลับเป็นว่า “การลุกฮือขึ้นต่อต้านทรราช” ของเล่าปังและพวกกลับเป็นเพียงการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แห่งอำนาจที่เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก โลหิตและหยาดน้ำตาของผู้คนเท่านั้น
ถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นของเล่าปัง เมื่อผู้นำอ่อนแอและมีการกดขี่ข่มเหงขูดรีดประชาชนมากขึ้น  สงครามใหญ่เพื่อการแย่งชิงอำนาจจึงเกิดขึ้นอีกครา กลายเป็นเรื่องราวการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของ “สามก๊ก” ที่กินเวลายาวนานกว่ากึ่งศตวรรษ
ทั้งโจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน ที่เป็นผู้นำก๊กทั้งสาม  มิว่าพวกมันจะให้วาทะกล่าวอ้างเพื่อสร้างความถูกต้องให้กับการกระทำของตนเยี่ยงไร แต่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกมันล้วนเพียงเพื่อให้ได้ลิ้มรสกับคำ “อำนาจ” และได้มีเวลาในการเสวยอำนาจได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
ยังมีอีก- พ่อลูกสุยเหวินตี้ สุยหยางตี้ แห่งราชวงศ์สุย พ่อลูกตระกูลหลี่- หลี่เอียนและหลี่ซื่อหมินล้มล้างทรราชสุยหยางตี้ สถาปนาราชวงศ์ถังขึ้นปกครองแผ่นดินจีน  สิ้นอำนาจตระกูลหลี่แผ่นดินจีนก็แตกแยกเปิดโอกาสให้เจ้าควงอิ้นสถาปนาราชวงศ์ซ่งขึ้นมีอำนาจแทน พวกเขาล้วนแต่เหยียบย่ำไปบนกองกระดูกอันขาวโพลน โลหิตอันแดงฉาน และคราบน้ำตาของผู้คนเพื่อการก้าวขึ้นสู่การมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินทั้งสิ้น
............
ยังมีอีกมากมายนัก- ฯลฯ
การต่อสู้เพื่อ “อำนาจ” ของผู้คนเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นด้วยข้ออ้าง ‘เพื่อความสุขสงบของปวงประชา เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ’ เยี่ยงเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วไยมิใช่เป็นไปเพื่อการมีและรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเยี่ยงเดียวกันทั้งสิ้น
บุคคลเหล่านี้มีบ้างได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ มีไม่น้อยที่ถูกประณามย่ำเหยียบเป็นทรราช  แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมอย่างถ่องแท้  มีที่ใดที่ผิดแผกแตกต่างกันบ้าง?
ใครเล่าคือวีรบุรุษ  ใครเล่าเป็นทรราช?

เมื่อมีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ว่า “กระบี่เย้ยยุทธจักร” เป็นยุทธจักรนิยายที่เขียนขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครองของจีนในยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ของเหมาเจ๋อตง  กิมย้งกลับอธิบายเหตุผลในการประพันธ์ยุทธจักรนิยายเรื่องนี้ไว้ว่า
 “นิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาโจมตีการปฏิวัติวัฒนธรรม  หากแต่อาศัยตัวละครในหนังสือตีแผ่ปรากฏการณ์โดยทั่วไปในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของจีน ซึ่งดำเนินติดต่อกันมาสามพันกว่าปี  นิยายที่เขียนโจมตีไม่มีความหมายเท่าใด เหตุการณ์ทางการเมืองผันผวนอยู่ทุกเมื่อ มีแต่การตีแผ่ธาตุแท้ใจคอคน จึงมีคุณค่าระยะยาวกว่า การแก่งแย่งชิงอำนาจโดยไม่คำนึงถึงทุกสิ่ง เป็นสภาพการณ์ขั้นพื้นฐานในชีวิตทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ  หลายพันปีที่ผ่านมาเป็นเช่นนี้ หลายพันปีให้หลังเกรงว่ายังคงเป็นเช่นนี้
                                     (สำนวนแปล น. นพรัตน์)
ในสายตาของกิมย้ง  ตัวละครที่ท่านรังสรรค์ขึ้นมา แม้จะเป็นชนชาวบู๊ลิ้มแต่ย่อมมิใช่ชนชาวบู๊ลิ้มโดยแท้จริง
 “ยิ่มอั้วเกี้ย ตังฮึงปุกป่าย งักปุกคุ้งและจ้อแนเซี้ย ขณะที่ข้าพเจ้านึกวาดมโนภาพไม่ใช่ยอดฝีมือชาวบู๊ลิ้ม  แต่เป็นนักการเมือง  ลิ้มเพ้งจื๊อ เฮี่ยงมุ่งเทียน เจ้าอาวาสปึงเจ่ง ชงฮือเต้าเจี้ยง เตี้ยเอ้ยซือไถ่ มกไต้ซิงแซ อื้อชังไฮ้ ทั้งหลายก็เป็นนักการเมือง บุคคลหลากสีหลากสันเหล่านี้ มีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย คาดว่ามีอยู่ในประเทศอื่นด้วย”
                                     (สำนวนแปล น. นพรัตน์)
กระบี่เย้ยยุทธจักรของกิมย้งจึงย่อมมิใช่เป็นเพียงเรื่องราวการต่อสู้ของชนชาวบู๊ลิ้ม แต่กลับเป็นนิยายที่สะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของผู้คนในยุทธจักรการเมืองจีน (หรือแม้แต่ในยุทธจักรการเมืองของอีกหลายๆ ประเทศ) ที่เป็นมาติดต่ออย่างยาวนานหลายพันปีและจะมีต่อไปอีกในอนาคตอันยาวนานเบื้องหน้าสืบไป การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในวงบู๊ลิ้มของเหล่าจอมยุทธทั้งที่อ้างตนเป็นผู้มีคุณธรรมและผู้ที่ถูกประณามเป็นฝ่ายอธรรม เหล่านี้ล้วนหาได้มีวิธีการที่แตกต่างกันไม่  ระหว่างจ้อแนเซี้ยงที่คลั่งไคล้ในอำนาจอย่างออกหน้าออกตากับงักปุกคุ้งที่มีเบื้องหน้าเป็นวิญญูชนผู้มีคุณธรรมความดีงามยิ่งล้วนมีธาตุแท้นิสัยใจคอเยี่ยงเดียวกันทั้งสิ้น  และเยี่ยงเดียวกันกับผู้นำทางการเมืองที่มีมาแล้วแต่โบราณกาลจวบปัจจุบัน
อ่านกระบี่เย้ยยุทธจักรของกิมย้งเรื่องหนึ่งจึงเท่ากับอ่านธาตุแท้จิตใจผู้คนที่เป็น “นักการเมือง” ทั้งในประวัติศาสตร์สามพันกว่าปีของจีนและในประวัติศาสตร์การเมืองของชาติต่างๆ ได้เกือบทั้งสิ้น ไม่ว่ามันผู้ใดจะประกาศตนเป็นผู้มีคุณธรรมหรือถูกประณามหยามเหยียดเป็นอธรรม  มิว่าจะได้รับการยกย่องเป็นเทพยึดถือเป็นมารจึงล้วนหามีข้อแตกต่างกันสักกี่มากน้อยไม่ จะแตกต่างกันก็เพียงแต่ผู้ใดจะสามารถ “สร้างภาพ” ของตนให้เป็นที่ “ต้องตาต้องใจ” แก่บุคคลผู้มี “อำนาจ” ในการตัดสินความชั่วดีถูกผิดให้กับพวกเขาเท่านั้นเอง

ในวงการเมือง- ธรรมและอธรรม เทพและมาร คนดีงามและชั่วร้าย จึงอาจเป็นเพียงคำตัดสินของ “กลุ่มผลประโยชน์” ที่มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มการเมืองและนักการเมืองเท่านั้นเอง
วีรบุรุษและทรราชในประวัติศาสตร์การเมืองจึงคล้ายเป็นเพียงภาพมายาที่สร้างขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ที่ล้วนมีแง่มุมในการมองและการรักษาผลประโยชน์ของตนเองของผู้เขียนหรือบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
กิมย้งเขียนนิยายเรื่อง “จิ้งจอกภูเขาหิมะ” โดยอ้างอิงเรื่องราวในรัชสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงเป็นมิติแห่งเวลาในเรื่อง แต่กลับอ้างอิงพัวพันถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนับแต่ปลายสมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ในตอนท้ายของเรื่องกิมย้งกำหนดให้ตัวละครที่เป็นบุคคลในยุคหลังเล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างตระกูลที่สร้างสมความแค้นสืบต่อให้กับทายาทรุ่นหลัง  ผู้ที่เล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นล้วนอ้างตนเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ทั้งสิ้น  แต่เนื้อของเรื่องบางครั้งก็ดูคล้ายกับเป็นคนละเรื่องกัน  ทั้งนี้อาจเนื่องเพราะคนผู้หนึ่งแม้อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง แต่ใช่ว่าจะสามารถรู้เห็นเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นได้ทั้งหมด  อีกทั้งบางคนกลับมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย  เยี่ยงนี้ในการเล่าข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์เดียวกันของพวกเขาจึงอาจเล่าเฉพาะแง่มุมที่ตนเองรู้เห็นและเป็นผลประโยชน์กับตน  สิ่งที่อาจเป็นผลเสียหรือเป็นความผิดพลาดของตนและพวกพ้องจึงยากที่จะถูกผู้คนเหล่านั้นบันทึกจดจำไว้
ที่แท้บันทึกประวัติศาสตร์ไยมิเป็นเฉกเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกันผ่านการบันทึกจดจารของผู้คนแต่ละคนจึงอาจมีสาระที่แตกต่างกันไปตามเป้าหมาย ทัศนะ และการรับรู้ของผู้บันทึกหรือเล่าแต่ละคน  ยากที่จะยึดถือเป็นผิดเป็นถูกได้อย่างแน่ชัดได้  แม้ผู้บันทึกนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น ‘นักประวัติศาสตร์’ ก็ตาม
เยี่ยงนี้- เหตุการณ์ในบันทึกประวัติศาสตร์กับเรื่องราวในนิยาย มีใครสามารถบอกได้ว่าไหนจริงไหนเท็จ?
เยี่ยงนี้- บุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีการจดจารบันทึกไว้ มีผู้สามารถบอกได้ว่าใครดีงามใครชั่วร้าย ใครคือเทพใครคือมาร?
บางครั้ง, ในความเท็จอาจซุกซ่อนความจริงอย่างใหญ่หลวงเอาไว้  และมีไม่น้อยที่ในสิ่งที่ผู้คนยึดถือเป็นความจริงกลับซุกซ่อนความเท็จอันร้ายกาจไว้ในระหว่างบรรทัดอย่างน่าสนใจยิ่ง  ระหว่างนิยายกับตำราประวัติศาสตร์มีผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าอย่างไหนเป็นความเท็จอย่างไหนเป็นความจริง?
บางครั้ง, เบื้องหลังของผู้คนที่ได้รับการยกย่องเป็นคนดีงาม มีคุณธรรมความสัตย์ซื่อเป็นอย่างยิ่ง อาจเป็นคนเลวร้ายฉ้อฉลผู้หนึ่ง เยี่ยงเดียวกับคนชั่วร้ายฉ้อฉลก็อาจมีบางด้านที่มีความดีงามอยู่บ้าง  ในสายตาของบุคคลบางกลุ่ม- ฉินหวางเจิ้งอาจนับเป็นทรราชชั่วช้ายิ่ง แต่สำหรับบางกลุ่มอาจยึดถือพระองค์เป็นวีรบุรุษหาญกล้าเป็นมหาราช  โจโฉอาจเป็นคนต่ำช้าในสายตาของผู้คนบางกลุ่ม  ในขณะที่มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยถือนักบริหารชั้นยอดผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 
ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนยกย่องหลี่ซื่อหมินหรือถังไทจงฮ่องเต้เป็นมหาราช ประณามสุยหยางตี้เป็นทรราช ทั้งๆ ที่ทั้งสองล้วนมีพฤติกรรมในบางด้านที่คล้ายกัน ล้วนประหัตประหารญาติพี่น้องเพียงเพื่อการมีอำนาจเยี่ยงเดียวกัน!
ที่แท้เยี่ยงไรจึงจะสามารถนับเป็นคนดี เยี่ยงไรจึงจัดเป็นคนเลว?
นักการเมืองเยี่ยงไรจึงสามารถจัดเป็นนักการเมืองที่ดี และนักการเมืองเยี่ยงไรจึงสมควรจัดเป็นนักการเมืองที่เลว?
กิมย้งพยายามให้ข้อสรุปแก่เรา:-
“บุคคลที่ชาญฉลาดเจ้าปัญญา ผู้ที่ห้าวหาญมีกำลัง ส่วนใหญ่ล้วนมักใหญ่ใฝ่สูง บรรทัดฐานของธรรมจริยาแบ่งแยกพวกเขาเป็นคนสองประเภท  ผู้ที่มีเป้าหมายอยู่ที่สร้างสรรค์ความสุขส่วนรวม นับเป็นคนดี  ผู้ที่เห็นแก่ยศถาบรรดาศักดิ์ส่วนตนทำร้ายถึงผู้อื่น นับเป็นคนเลว  ความเป็นคนดีหรือเลวใหญ่หลวงเพียงไหนขึ้นอยู่กับระดับและจำนวนของการเอื้ออำนวยประโยชน์ และสร้างความเสียหายขึ้น”
                                     (สำนวนแปล น. นพรัตน์)
เยี่ยงนี้, ระหว่างฉินหวางเจิ้งหรือจิ๋นซีฮ่องเต้กับเล่าปัง  ระหว่างสุยหยางตี้กับหลี่ซื่อหมิน หรือระหว่างมหาราชและทรราชในประวัติศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง บางครั้งจึงอาจแยกออกให้เห็นได้ว่าใครเป็นผู้ดีงามหรือชั่วร้าย  แต่หากเป็นเยี่ยงงักปุกคุ้ง ยิ่มอั้วเกี้ย ตังฮึงปุกป่าย จ้อแน้เซี้ย และ ฯลฯ ในกระบี่เย้ยยุทธจักรเล่า มีผู้ใดสมควรนับเป็นผู้มีคุณธรรมความดีงามอย่างแท้จริงได้?


เรื่องราวชีวิตผู้คนบนสองฟากฝั่งของหวงเหอและฉางเจียงนับแต่โบราณกาลที่ถูกการบันทึกไว้ทั้งในรูปแบบของเอกสารทางประวัติศาสตร์และตำนาน นิทานหรือนิยาย  แท้จริงสิ่งใดเป็นความจริง เรื่องราวใดเป็นความเท็จอยากยิ่งที่จะตัดสินให้แน่ชัดลงไปได้
ประวัติศาสตร์และตำนานของผู้คนที่มุ่งแสวงหาและปกปักรักษาอำนาจตนบนถนนการเมืองที่เกิดขึ้นบนสองฟากฝั่งของแม่น้ำทั้งสองสายนี้ มีผู้ใดสมควรนับเป็นผู้ดีงามและผู้ใดสมควรยึดเป็นผู้เลวร้าย?
ที่แท้ยุทธจักรนิยายที่เขียนถึงเรื่องราวของชีวิตและผู้คนบนถนนการเมืองสองฟากฝั่งหวงเหอและฉางเจียง  แม้บางครั้งมันอาจจะเป็นเพียงนิยายที่ประพันธ์ขึ้นจากจินตนาการของนักประพันธ์ผู้หนึ่ง  ซึ่งอาจเป็นเรื่องประโลมโลกที่มุ่งหวังสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน แต่โดยแก่นแท้ของมัน บางครั้งกลับซุกซ่อนความจริงอย่างใหญ่หลวง กลับเผยธาตุแท้ของผู้คนอย่างล่อนจ้อนยิ่ง
การเขียนถึงเรื่องราวของชีวิตผู้คนบนถนนการเมืองที่ปรากฏในยุทธจักรนิยายของข้าพเจ้าในที่นี้จึงย่อมมิได้เน้นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  แต่ต้องการมุ่งเน้นแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้บางด้านของ “นักการเมือง” ในยุทธภพที่นักประพันธ์บางท่านนำเสนอไว้ในรูปแบบของนิยายกำลังภายใน  เพื่อให้เราท่านได้รู้จักกับผู้ที่เป็น ‘นักการเมือง’ ได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า  แท้ที่จริงแล้ว นักการเมืองไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด หรือในประเทศใด ๆ ล้วนมีธาตุแท้บางประการที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน  เนื่องเพราะเป้าหมายที่แท้จริงของนักการเมืองเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน คือ “อำนาจและผลประโยชน์”

อำนาจและผลประโยชน์คือสิ่งที่นักการเมืองมุ่งมาตรปรารถนา  มิว่าพวกเขาจะอ้างการกระทำของตนว่ากระทำเพื่ออะไรก็ตาม!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 6

5 ศึกชิงเจ้าปฐพีปลายยุครณรัฐ การสัประยุทธ์ระหว่างฉินกับเจ้า ฉีและเว่ย ในปลายยุคจ้านกว๋อ การรบสู้ระหว่างแคว้นต่างๆ ยิ่งเข้มข้นข...