4
สงครามระหว่างฉู่กับฉิน
กวีเอกชูหยวนผู้ไม่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า
หลังจากที่แคว้นฉีรุ่งเรืองขึ้นมาแทนแคว้นเว่ยได้ไม่นานนัก
แคว้นฉินที่เคยล้าหลังและไม่อยู่ในความสนใจของแคว้นอื่นๆ เลย
ก็เริ่มเปล่งรัศมีแห่งความเป็นมหาอำนาจขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยฝีมือการปฏิรูปกฎหมายและการปกครองของ
“เว่ยเอียง” หรือ “ซางเอียง” (ซางยาง) ในรัชสมัยฉินเสี้ยวกงเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น
ทำให้แคว้นฉินผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของแคว้นฉี นับแต่นั้นมาแคว้นต่างๆ
ก็เริ่มหันไปให้ความสำคัญกับแคว้นฉิน
และเริ่มหาทางป้องกันตัวเองจากการรุกรานของแคว้นฉิน
ในยุครุ่งเรืองของแคว้นฉีและแคว้นฉินนี้
เกิดมีบุคคลสำคัญขึ้นสองคนด้วยกัน คือ ซูฉินผู้เป็นเจ้าของกลยุทธ์ “ประสานแนวดิ่ง”
กับ จางอี้ (เตียอี๋) เจ้าของกลยุทธ์ “เชื่อมแนวขวาง”
สองคนนี้ก็เป็นศิษย์ของของกุ่ยกู่จื่อรุ่นเดียวกันและเป็นศิษย์รุ่นหลังของซุนปินและผังเจวียน
(ในเรื่องคัมภีร์มรณะได้กล่าวถึงตอนที่ซุนปินออกจากสำนักหุบผาปีศาจแล้ว
ก็มีการกล่าวถึงการรับศิษย์ใหม่ของกุ่ยกู่จื่อไว้ด้วย
ศิษย์ใหม่ทั้งสองคนที่กุ่ยกู่จื่อรับไว้ก็คือซูฉินและจางอี้นี่เอง)
ต่อมาทั้งสองคนนี้ก็ขับเคี่ยวกันแทนซุนปินกับผังเจวียน
โดยที่ชูฉินนั้นใช้กลยุทธ์รวมพลังหกแคว้นต่อต้านแคว้นฉิน ในขณะเดียวกันจางอี้ก็ใช้กลยุทธ์แยกสลายพลังของหกแคว้นเพื่อกลืนแคว้นต่างๆ
เข้ากับแคว้นฉิน
ในท่ามกลางการขับเคี่ยวอย่างรุนแรงระหว่างกลยุทธ์ประสานแนวดิ่งกับเชื่อมแนวขวางนั้น
สงครามระหว่างแคว้นฉินกับแคว้นฉู่ได้แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของกลยุทธ์เชื่อมแนวขวางและความล้มเหลวของกลยุทธ์ประสานแนวดิ่งได้อย่างชัดเจนที่สุด สงครามระหว่างฉู่และฉินมีปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง
“กวีเอกคุง้วน”
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากประวัติของกวีเอกคุง้วนหรือชูหยวนอันเป็นจินตกวีเอกคนแรกของจีนและเป็นขุนนางผู้ปราดเปรื่อง
ผู้ซึ่งไม่ยินยอมอ่อนข้อให้กับเหล่ากังฉินและ
ชนชั้นผู้ดีเก่าที่กดขี่ขูดรีดเหล่าอาณาประชาราษฎร์
คุง้วนหรือชูหยวน(ในนิยายอิงพงศาวดารเรื่องไซฮั่นเรียกคุดหงวน) สืบเชื้อสายประยูรวงศ์กษัตริย์แคว้นฉู่ เกิดในปีที่ 27 แห่งรัชกาลฉู่ซวนหวาง ตรงกับปี
พ.ศ.203 มีชื่ออีกชื่อหนึ่ง “ชูผิง” รับราชการอยู่ในรัชสมัยของฉู่ไหวหวาง
ด้วยความปรีชาสามารถฉลาดเฉลียวและความซื่อสัตย์สุจริต
ชูหยวนจึงได้รับความไว้วางใจของฉู่หวยอ๋องเป็นอย่างสูง ดังนั้นด้วยอายุเพียง 25 ปี
ท่านก็สามารถที่จะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็น“จั่วถู”หรือรองอัครมนตรี(เทียบได้กับรองนายกรัฐมนตรีสมัยนี้)
ชูหยวนมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนทำนุบำรุงแคว้นฉู่ให้มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง
ให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
ความพยายามที่จะปฏิรูปกฎหมายใหม่ของท่าน
ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเห็นพ้องต้องกันระหว่างท่านกับฉู่ไหวหวาง
เนื่องเพราะฉู่ไหวหวางเองก็มีความประสงค์ที่จะขจัดอำนาจอิทธิพลของกลุ่มผู้ดีเก่าซึ่งมีจิ้นซ่างเป็นผู้นำสำคัญ
ในขณะจิ้นซ่างนั้นได้รับการสนับสนุนจากสนมคนโปรดเจิ้งสิ้วของฉู่ไหวหวางเอง ดังนั้นแม้ฉู่ไหวหวางจะเห็นด้วยกับชูหยวน
แต่อุปสรรคก็ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่เริ่มต้น หลังจากที่ชูหยวนเริ่มงานปฏิรูปกฏหมายและการเมืองได้ไม่นานนัก
ก็ได้รับการขัดขวางจากกลุ่มผู้ดีเก่าที่พยายามปรักปรำให้ร้ายชูหยวนอยู่ตลอดเวลา
จนฉู่ไหวหวางเองก็เริ่มเปลี่ยนพระทัยไปเชื่อฝ่ายผู้ดีเก่ามากขึ้น
และเหินห่างชูหยวนไปตามลำดับ
กระทั่งไม่ให้ความสนพระทัยต่อการปฏิรูปของชูหยวนอีกเลยในเวลาต่อมา
ฉะนั้นแม้ว่าชูหยวนจะพยายามที่จะเสนอแนวคิดที่แยบคายสักปานใดก็ตาม
ท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะกราบทูลแสดงความคิดเห็นต่อฉู่ไหวหวางอย่างใกล้ชิดอีกต่อไป ชูหยวนจึงเริ่มหมดหวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและได้ใช้เวลาไปในทางการประพันธ์กวีนิพนธ์มากขึ้น
ทางด้านแคว้นฉินนั้นเล่าก็ต้องการที่จะยึดครองแคว้นฉู่ให้ได้
แต่ด้วยผลงานที่สำคัญของชูหยวนตั้งแต่เมื่อยังเป็นที่โปรดปราน คือ
การทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉีตามกลยุทธ์ประสานแนวดิ่งของซูฉิน
ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แคว้นฉินจึงเห็นว่าถึงจะอย่างไรชูหยวนก็ยังคงเป็นก้างขวางคอชิ้นโตที่จะต้องกำจัดเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยพิชิตแคว้นฉู่
มิฉะนั้นแล้วแผนการยึดครองแคว้นฉู่ก็มิอาจสำเร็จได้
ดังนั้นจางอี้เจ้าของยุทธการเชื่อมแนวขวางจึงวางแผนทำลายกลยุทธ์เชื่อมแนวดิ่งที่แคว้นฉู่
แผนการทำลายกลยุทธ์เชื่อมแนวดิ่งของจางอี้จึงเริ่มต้นด้วยการใช้ทองคำติดสินบนจิ้นซ่างและนางเจิ้งสิ้วหัวโจกของกลุ่มผู้ดีเก่าที่เป็นคู่แค้นของชูหยวน
ให้ทั้งสองคนนี้รวมทั้งจื่อหลานบุตรชายคนโปรดของฉู่ไหวหวาง
ตลอดจนขุนนางในสังกัดหรือกลุ่มของจิ้นซ่างช่วยกันกราบทูลยุยงให้ฉู่ไหวหวางขับไล่ชูหยวนออกจากราชการ
และให้ฉู่ไหวหวางประกาศตัดสัมพันธ์กับแคว้นฉี
โดยใช้ดินแดน 600 ลี้เป็นข้อแลกเปลี่ยน
แต่หลังจากที่ฉู่ไหวหวางประกาศตัดสัมพันธ์กับแคว้นฉีแล้ว
แคว้นฉินหาได้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ ฉู่ไหวหวางจึงยกกองทัพบุกเข้าโจมตีแคว้นฉินใน
พ.ศ.231 และประสบกับความพ่ายแพ้กลับมา
มิหนำซ้ำยังถูกแคว้นฉินยกทัพบุกเข้ายึดเอาดินแดนบางส่วนไปอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้วทางฝ่ายแคว้นฉีซึ่งไม่พอใจต่อการกระทำของแคว้นฉู่ที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ก็ได้ยกทัพเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของแคว้นฉู่ด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนว่าฉู่ไหวหวางและกลุ่มผู้ดีเก่าจะไม่ยอมมองข้อผิดพลาดของตนเลย มิหนำหูตายังมืดมัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก
ฉะนั้นเมื่อจางอี้วางแผนเสนอข้อตกลงให้ฉู่ไหวหวางเดินทางไปเจรจากับเจ้าผู้ครองแคว้นฉินที่ด่านอู่กวน
ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากจิ้นซ่างและพรรคพวก ฉู่ไหวหวางก็ยินยอมไปเจรจากับตัวแทนแคว้นฉิน
จึงถูกกองกำลังของแคว้นฉินจับตัวไว้ได้
และถูกกักขังไว้จนกระทั่งถึงแก่กรรมในอีกสามปีต่อมา
หลังจากที่ฉู่ไหวหวางถึงแก่กรรมแล้ว
ฉู่ฉิงเซี่ยงหวางได้ขึ้นครองราชย์แทน
ชูหยวนหวังว่ากษัตริย์องค์ใหม่น่าจะเคียดแค้นที่บิดาของพระองค์หลงกลแคว้นฉินจนถูกกักขังไว้จนตาย
จึงเสนอให้ฉู่ฉิ่งเซี่ยงหวางลงโทษจิ้นซ่างและพวกเป็นการแก้แค้นแทนบิดา
แต่ก็ไร้ผล
เพราะมิเพียงฉู่ฉิ่งเซี่ยงหวางจะไม่ลงโทษจิ้นซ่างกับพวกเท่านั้น
ตัวของชูหยวนเองกลับเป็นผู้ถูกลงโทษขับไล่ออกจากราชการแทน
และถูกเนรเทศไปอยู่แถบเชียงหนาน
ห้ามมิให้เหยียบย่างกลับเข้าสู่เขตเมืองหลวงอีกต่อไปอย่างเด็ดขาด
ชูหยวนจำต้องออกเดินทางจากหยิ่งตูเมืองหลวงของแคว้นฉู่ด้วยความเศร้ารันทดใจที่มิอาจช่วยกอบกู้ชะตากรรมของบ้านเมืองได้
ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ.247 ชูหยวนมีอายุได้48 ปี
ในขณะที่ถูกเนรเทศนี้ชูหยวนได้แต่งบทกวีแสดงถึงความคิดทางสังคมและการเมือง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงปณิธานอย่างแน่วแน่ของตนเอง ไว้หลายบทด้วยกัน เช่น แต่งบทกวี “จี๋ซ่ง”
(สดุดีส้ม)เพื่อบ่งบอกถึงความแน่วแน่ในคุณธรรมของตน แต่ง “จิ่วเกอ” (เก้าเพลง) เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะให้ประชาชนพร้อมใจกันกำจัดความชั่วร้าย
ขุนนางกังฉินและทรราชให้หมดไป เพื่อบ้านเมืองจะได้มีความมั่นคง แต่ง “หลี่เซ่า” (นิราศรันทด)
แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมืองและความรันทดใจที่เห็นแคว้นฉู่ล่มสลาย แต่ง “เทียนเวิ่น” (ถามฟ้า)
เป็นคำถามเกี่ยวกับฟ้า ดิน มนุษย์และปรัชญา ราว 170 คำถาม
ในปี พ.ศ.265 ขณะนั้นชูหยวนอายุได้ 66 ปี หยิ่งตูเมืองหลวงของแคว้นฉู่ถูกกองทัพแคว้นฉินบุกเข้ายึดครองได้สำเร็จ
ชูหยวนจึงแต่งบทกวี “อายหยิ่ง”(สมเพชหยิ่งตู) ขึ้น
บทกวีชิ้นนี้มีเนี้อหาแสดงความโศกระทมที่แคว้นฉู่ต้องสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน แต่ง “เส้อเจียง” (ท่องธาร) เพื่อเป็นการยืนยันว่าตนจะไม่ยอมดำรงชีวิตอยู่อย่างเหลวไหลไร้คุณค่า แต่งบทกวี่ชื่อ “ซือหว่างยื่อ” (อาลัยอดีต) และ
“หวยซา” (โอบทราย) แสดงถึงความมืดมนสิ้นหวังของแคว้นฉู่
แล้วจึงโอบอุ้มก้อนหินใหญ่กระโดดลงสู่แม่น้ำมี่หลอเจียง เมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ
เดือน 5 ปี พ.ศ.265
ชูหยวนเป็นทั้งกวีและขุนนางที่ยืนเคียงข้างผลประโยชน์ของประชาชน
ท่านจึงเป็นที่รักของประชาชนอยู่ตลอด
ดังนั้นเมื่อชาวประมงแถบนั้นรู้ว่าชูหยวนกระโดดน้ำตาย
ต่างก็พากันเอาเรือออกไปค้นหาศพ
และเพื่อป้องกันมิให้ปลามาแทะกินศพ ชาวประมงจึงเอาข้าวและขนมจ้างโยนลงไปในน้ำด้วย แต่ก็ไม่สามารถที่จะค้นหาศพพบ ต่างก็กลับไปด้วยความผิดหวัง และเพื่อเป็นการรำลึกถืงจินตกวีท่านนี้
ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีหลังจากนั้นมา
พวกเขาก็จะพากันมาล่องเรือโยนขนมจ้างลงในแม่น้ำเพื่อเป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณของชูหยวน การกระทำเป็นนี้จึงกลายเป็นประเพณีไปในที่สุด
ตั้งแต่นั้นมาพอถึงวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกๆ ปี
ชาวจีนก็จะจัดให้มีการแข่งเรือมังกรและทำขนมจ้างเพื่อรำลึกถึงชูหยวนจินตกวีเอกผู้รักชาติรักประชาชนสืบทอดต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ มีชื่อเรียกว่า “เทศกาลวันสารทตวนอู่” หรือ
“เทศกาลสารทขนมจ้าง”
ในภาพยนตร์เรื่อง “กวีเอกคุง้วน” ได้เน้นให้เห็นถึงอุดมคติเพื่อชาติเพื่อประชาชนของชูหยวนอย่างแจ่มชัด
โดยที่กล่าวถึงอัจฉริยภาพทางด้านความเป็นกวีน้อยมาก
กวีนิพนธ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้มีเพียงตอนสั้นๆ ซึ่งชูหยวนเอื้อนเอ่ยกับชาวเรือในขณะที่โดยสารเรือข้ามฟากในบั้นปลายของชีวิตว่า
ฟ้าไม่เหลียวไม่แลแม้ตัวเรา
ชาวประชาอับเฉาหัวระแหง
เลือคน้ำตาคละเคล้าดูรุนแรง
เศร้าสลดแห้งแล้งในหัวใจ
จากบ้านเกิดเร่ร่อนไปต่างเมือง
ล่องแม่น้ำตามเรื่องเหมือนเศษไม้
โศกสลดเกาะกินเลาะร้าวใจ
อีกเมื่อใดจะได้คืนผืนแผ่นดิน
ขุนเขาดุจเสาที่ขวางหน้า
ตีนเขามีธาราไหลเย็น
ยอดเขามีหิมะคละเย็นเย็น
เมฆดำเป็นฟ้าฝนกระหน่ำมา
ชีวิตข้าไร้สุขรับทุกข์ยาก
โดดเดี่ยวตากฟ้าฝนทนทุกข์ไหว
จะให้ฝืนใจตนตามใจใคร
ยินดีไปยากไร้ที่พักพิง
ชูหยวนเป็นกวีผู้มีความรักชาติรักประชาชนเป็นที่ยิ่ง
มีอุดมคติที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดขึ้นในกับชาติบ้านเมือง ซึ่งในภาพยนตร์ได้เน้นในประเด็นนี้ไว้อย่างเด่นชัด
และเพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับความเป็นกวีของชูหยวน
ผู้เขียนใคร่ที่จะหยิบยกเอาผลงานของท่านที่มีผู้แปลเป็นพากย์ไทยไว้แล้วมาให้เห็นพอเป็นตัวอย่างสักตอนหนึ่ง
จากกวีนิพนธ์ชิ้นเอกหลี่เซ่าซึ่งแปลเป็นพากย์ไทยโดยอาจารย์ยง อิงคเวทย์ ดังนี้
เพื่อให้เห็นแนวทางดำเนินวิถีชีวิต
ชูหยวนพิจารณาเปรียบเทียบกระบวนการบริหารของกษัตริย์โบราณซึ่งมีผลงานต่างกัน
ตำหนิขุนนางที่เข้าพวกปิดบังพระราชา
ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะคับขันและรู้สึกน้อยใจที่พระราชาหลงเชื่อคำยุยงใส่ไคล้
แต่เขาก็ยังจงรักภักดีต่อพระองค์
สามผ่านเผ้าเบาราณท่านบริสุทธิ์เอย
จึงเป็นจุดชุมนุมเหล่าบุปผา
รวมเซินเจียว
จุ้นกุ้ย สุคนธาเอย
ทั้งมาลา หุ้ยหวล ม้วนพะจี
เหยียว สุ้น สองภูมีที่เกริกไกรเอย
เพราะทรงใช้คติธรรมนำวิถี
ไย เจี๋ย โจ้ว หฤโหดโฉดเหลือดีเอย
มุ่งทางลัดลับถึงอับจน
คนในพรรคมักเหลิงระเริงสุขเอย
จึงเข็ญขุกทุกขะทรหน
หาใช่ข้ารักตัวกลัวผจญเอย
ไม่สู้ยลยานราชพินาศไป
เคยวิ่งเล่นลนลานกาลก่อนนั้นเอย
หมายให้ทันรอยบาทบุพราชได้
ฉมไม่ทราบเจตนาของข้าไทเอย
กลับเชื่อฟังใส่ไคล้ให้โกรธา
รู้อยู่ว่าซื่อนักมักมีภัยเอย
จะปล่อยปละผละไปก็ไม่กล้า
ขอเก้าฟ้าอารักษ์ประจักษ์ตาเอย
เพราะใจข้ากตัญญูภูบดี
แต่เดิมได้ให้คำพร่ำสัญญาเอย
ภายหลังมากลับกลายทำหน่ายหนี
จะให้ข้าลาจากหายากมีเอย
เศร้าฤดีที่ทรงธรรม์ผันเปลี่ยนไว
เนื่องจากกวีนิพนธ์ของชูหยวนมีอายุสองพันกว่าปีมาแล้ว ภาษาที่ใช้จึงยากที่คนปัจจุบันจะเข้าใจได้
ประกอบกับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยที่มุ่งคงอรรถรสของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ให้คงอยู่ให้มากที่สุด
ผู้แปลจึงได้อรรถาธิบายความเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเอาไว้ด้วย เฉพาะส่วนที่คัดลอกมาประกอบนี้ ผู้เขียนขอสรุปคำอรรถาธิบาย “คำ” และ “ความ”
ที่ยากต่อการเข้าใจของท่านผู้แปลประกอบด้วย ดังนี้
1.สามผ่านเผ้าเบาราณ
หมายถึงสามกษัตริย์ที่เป็นปฐมกษัตริย์ของ 3 ราชวงศ์ในยุคโบราณผู้ทรงคุณธรรม
ประกอบด้วย เซี่ยหยู แห่งราชวงศ์เซี่ย
ซางทาง แห่งราชวงศ์ซาง และโจวเหวินหวาง แห่งราชวงศ์โจว
2.เหล่าบุปผา
หมายถึงบัณฑิตทั้งหลาย
3.เซินเจียว หมายถึงเจียวที่เกิดในแคว้นเซิน
เจียวเป็นไม้หอม ตรงกับต้นกำจัดของไทย
4.จุ้นกุ้ย เป็นชื่อของอบเชยชนิดหนึ่ง
5.หุ้ย เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม
6.พะจี เป็นคำทับศัพท์คำว่า พี่จื่อ
ซึ่งเป็นชื่อของพืชหอมชนิดหนึ่ง ดอกขาว รากใช้ทำยา เรียกว่าไป๋จื่อ สำเนียงแต้จิ๋วว่า แปะจี๊
7.เหยียว สุ้น หมายถึงมหาราชโบราณสองพระองค์คือ ตี้เหยียว
(เงี้ยวเต้) และตี้สุ้น (อี๋ซุ่น)
ตี้สุ่นโอนราชบัลลังก์ให้เซี่ยหยูต้นราชวงศ์เซี่ย
เมื่อเซี่ยหยูชราจึงเลือกหยี่หรืออี้เป็นกษัตริย์ต่อ แต่ลูกชายของเซี่ยหยูไม่พอใจ
เมื่อเซี่ยหยูสวรรคตจึงฆ่าอี้เสียแล้วตนขึ้นครองราชย์ต่อ
เปลี่ยนวิธีการสืบราชบัลลังก์เป็นการสืบด้วยสายเลือด
8.เจี๋ย และ โจ้ว
หมายถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซางตามลำดับ
ทั้งสองพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
(ดูรายละเอียดในตอนที่ 2 ของบทนี้ประกอบ)
9.คนในพรรค หมายถึงขุนนางที่รวมตัวกันเป็นพวก
มีจื่อหลานโอรสองค์เล็กของฉู่ไหวหวาง
ซ่างกวานต้าฟูผู้จะแย่งกฎหมายของชูหยวน
จิ้นซ่างผู้รับอามิสสินจ้างจากแคว้นฉิน เป็นต้น
10.ฉม พากย์จีนว่า ฉวน หมายถึงพืชหอมชนิดหนึ่ง
แต่ในที่นี้หมายถึงฉู่ไหวหวาง ที่ใช้คำนี้ก็เพื่อแสดงความรักและความใกล้ชิด
11.เก้าฟ้า
หมายถึงฟ้าทั้งแปดทิศและฟ้าส่วนกลาง
หลี่เซ่าเป็นบทกวีซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 93 บท
ทียกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นเพียง 6 บท
มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยจบเรื่องแล้วโดยอาจารย์ยง อิงคเวทย์
ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้จากหนังสือชื่อ “วิวัฒนาการกวีนิพนธ์จีน”
ซึ่งนอกจากว่าท่านผู้แปลจะสามารถแปลออกเป็นพากย์ไทยได้อย่างไพเราะโดยคงอรรถรสต้นฉบับเดิมอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็ยังมีคำอรรถาธิบายอย่างละเอียดละออ
ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น