3
ยุครณรัฐ-ยุคแห่งสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่
ซุนปินกับตำราพิชัยสงครามซุนหวู่-คัมภีร์มรณะ
ในตอนปลายยุคชุนชิว แคว้นจิ้นแยกออกเป็นสามแคว้น คือ เว่ย
เจ้าและหาน ในขณะที่แคว้นหวู่และแคว้นเยว่ตกอยู่ภายอำนาจของแคว้นฉู่ เป็นผลให้แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น 7 แคว้นใหญ่
คือ เว่ย เจ้า หาน ฉิน ฉี ฉู่ และเอี้ย
แต่ละแคว้นต่างก็พยายามที่จะขยายอำนาจของตนให้กว้างขวางออกและทำลายอิทธิพลของแคว้นอื่นๆ
เพื่อผลคือความเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินจงหยวน* ทั้งหมด
สงครามที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่าสามร้อยปีในยุคจ้านกว๋อนี้จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในยุคชุนชิว
แต่ละแคว้นต่างก็พยายามคิดค้นหากลยุทธ์ในการสงครามมากวิธีขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายที่เป็นผู้ชนะในการสัประยุทธ์ในยุคนี้ก็คือฝ่ายที่สามารถเฟ้นหานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญการพิชัยสงครามเหนือฝ่ายตรงกันข้ามมาเป็นพวก ดังนั้นยุคนี้นั้นนอกจากจะเป็น“ยุครณรัฐ” แล้ว
จึงยังเป็นยุคทองแห่งปรัชญาอีกด้วย
การณ์ที่เป็นเชนนี้
อาจกล่าวได้ว่านี่คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รูปแบบการผลิตได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบศักดินา ซึ่งให้เอกชนเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมากขึ้น
กับกลไกทางการเมืองและการแย่งชิงอำนาจเป็นใหญ่ระหว่างชนชั้นศักดินาของแต่ละแคว้น
ที่พยายามพัฒนารูปแบบของการแย่งชิงอำนาจให้มีประสิทธิภาพในการเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามโดยเด็ดขาดให้ได้
สงครามในยุคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
1.ระยะเวลาที่แคว้นเว่ยเป็นใหญ่กว่าแคว้นอื่น ๆ
2.ระยะของการแย่งชิงอำนาจระหว่างแคว้นฉีกับแคว้นฉิน
3.ระยะของการแย่งชิงอำนาจระหว่างแคว้นเจ้ากับแคว้นฉิน
4.ยุคแห่งการสถาปนาจักรวรรดิฉิน
ในระยะแรกๆ ของยุคจ้านกว๋อนั้น แคว้นเว่ยมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าแคว้นอื่นๆ
ในขณะเดียวกันแคว้นฉินซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกยังคงเป็นม้านอกสายตาที่ไม่มีแคว้นใดคิคจะรุกรานเข้าไปครอบครองหรือให้ความสำคัญ
ด้วยพากันเหยียดหยามว่าล้าหลังและเป็นดินแดนที่ทุรกันดาร
ความยิ่งใหญ่ของแคว้นเว่ยในช่วงแรกๆ
ของยุคจ้านกว๋อล้วนเกิดจากการปฏิรูปกฎหมายและการปกครองของหลี่คุ่ย ในรัชสมัยของเว่ยเหวินโหวแคว้นเว่ยมีความพยายามที่จะรวมแคว้นเจ้าและหานเข้าด้วยกันเพื่อสถาปนาแคว้นจิ้นขึ้นมาใหม่แต่ไม่สำเร็จ การแตกคอของแคว้นทั้งสามนี้ในราวปี พ.ศ.174
ยังผลให้แคว้นฉีที่มีฉีหวนกงเป็นเจ้าสามารถสลัดหลุดจากแอกแห่งอำนาจของแคว้นเว่ยได้สำเร็จ
และสามารถที่จะพัฒนาแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
จนสามารถที่จะสั่นคลอนฐานะและอำนาจของแคว้นเว่ยได้
ในการศึกที่ช่องแคบดอยหม่าหลิงระหว่างเว่ยกับฉีนั้น แคว้นฉีสามารถที่จะเอาชนะได้โดยฝีมือของเสนาธิการคนสำคัญนาม
“ซุนปิน” ผู้เป็นทายาทของซุนหวู่
ซุนปินสามารถสร้างความพ่ายแพ้และความเจ็บปวดอย่างยับเยินให้กับแคว้นเว่ยที่นำโดยแม่ทัพ“ผังเจียน”
คู่ปรับคนสำคัญของเขาในปี พ.ศ.201 หลังจากนั้นแคว้นฉีก็มีอำนาจแทนแคว้นเว่ย
ฉีเวยหวางได้ดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งหวางสืบแทนเว่ยหุ้ยหวาง
การยุทธ์ระหว่างแคว้นเว่ยกับแคว้นฉีในยุคนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ชุด
“คัมภีร์มรณะ” ตัวเอกของภาพยนตร์ชุดนี้คือซุนปินกับผังเจวียน ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้น
ทั้งสองคนนี้เป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการยุทธ์ระหว่างทั้งสองแคว้น โดยที่ซุนปินเป็นเสนาธิการของแคว้นฉี
ในขณะที่ผังเจวียนเป็นแม่ทัพคนสำคัญของแคว้นเว่ย
ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์มีบันทึกถึงซุนปินไว้ค่อนข้างชัดว่า
ซุนปินถือกําเนิดขึ้นมาดูโลกหลังจากที่ซุนหวู่ถึงแก่กรรมแล้วประมาณร้อยกว่าปี
แต่ก็มิอาจยืนยันได้ว่าซุนหวู่ถึงแก่กรรมเมื่อใด
ทราบเพียงว่าซุนหวู่เคยได้รับตำแหน่งแม่ทัพของแคว้นหวู่ ในระหว่างปี พ.ศ.31-61 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของหวู่หวางเหอลู
และหวู่หวางฟูไซ(ดังปรากฏในเรื่องไซซี) และเมื่อประมาณปี พ.ศ.61
ซุนหวู่มิอาจที่จะทนต่อความเหลวแหลกของราชสำนักหวู่ได้
จึงลาออกจากราชการไปแสวงหาความวิเวกตามปาเขาลำเนาไพร เร้นหลบกายมิให้ใครพบเห็นอีก
จากหลักฐานนี้จึงเชื่อได้ว่าซุนปินนั้นคงจะไม่ถือกำเนิดก่อนปี พ.ศ. 161 แน่นอน
ตามประวัติกล่าวว่า
ซุนปินเป็นนักการทหารผู้มีอัจฉริยะเลิศล้ำผู้หนึ่งของจีน
ถือกำเนิดในดินแดนที่อยู่ระหว่างเมืองอาเฉินกับเมืองจ่วนเฉินในเขตมณฑลชานตุงปัจจุบัน
เมื่อเยาว์วัยเคยได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์หวางสี่พร้อมกับผังเจวียน อาจารย์หวางสี่ที่ว่านี้ก็คือ “กุ่ยกู่จื่อ”
ซึ่งมีที่พำนักพักพิงอยู่อย่างสันโดษในหุบเขาปีศาจหรือหุบผามรณะ ณ เมืองหยาง
ดังนั้นผู้คนจึงเรียกกุ่ยกู่จื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “อาจารย์หุบเขาปีศาจ”
ถึงแม้ผังเจวียนจะได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการทหารและพิชัยสงครามจากสำนักเดียวกันกับซุนปิน
แต่ด้วยเหตุที่เขามีสติปัญญาด้อยกว่า
จึงมิอาจที่จะเข้าใจตำราพิชัยสงครามได้อย่างถ่องแท้เหมือนกับซุนปิน
อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับความรักจากอาจารย์น้อยกว่าซุนปิน
ผู้ซึ่งอาจารย์ถือว่าเป็นทายาทของซุนหวู่ ซึ่งในภาพยนตร์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า กุ่ยกู่จื่อไม่ยอมสอนวิชาความรู้ให้ผังเจวียนโดยตรง
แต่ให้ลูกศิษย์ของตนเป็นผู้ถ่ายทอดให้อีกทอดหนึ่ง
ในขณะที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้กับซุนปินด้วยตนเอง ดังนั้นความเชี่ยวชาญในเชิงยุทธ์ของผังเจวียนจึงมิอาจที่จะสู้ซุนปินได้้
หลังจากที่ได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามในระดับหนึ่งแล้ว
ผังเจวียนก็เดินทางออกจากหุบผามรณะไปยังแคว้นเว่ย
ซึ่งขณะนั้นเป็นรัชสมัยของเว่ยหุ้ยหวาง
ได้เข้ารับราชการอยู่ในแคว้นเว่ยจนได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของเว่ยหุ้ยหวางเป็นอย่างมาก
ต่อมาฉินหัวหลีศิษย์ของม่อจื้อ ได้เดินทางไปถึงหุบผามรณะได้พบกับซุนปิน
จึงสอบถามเหตุผลที่ซุนปินไม่ลงเขาไปรับราชการ
ซุนปินจึงบอกถึงข้อตกลงระหว่างตนกับผังเจวียนว่า
หากผังเจวียนประสบความสำเร็จในการรับราชการที่แคว้นเว่ยแล้ว ก็จะชักนำตนเข้าสู่วงราชการด้วย
ฉินหัวหลีจึงออกเดินทางไปยังแคว้นเว่ยและแจ้งเรื่องเกี่ยวกับซุนปินให้เว่ยหุ้ยหวางทราบ
เว่ยหุ้ยหวางจึงให้ขุนนางถือหนังสือของผังเจวียนไปถึงซุนปินทันที
ซุนปินจึงออกเดินทางจากหุบเขาปีศาจไปยังแคว้นเว่ย
เกี่ยวกับการเดินทางไปรับราชการที่แคว้นเว่ยนี้
บ้างก็กล่าวว่าผังเจวียนเป็นผู้เสนอให้เว่ยหุ้ยหวางส่งคนไปเชิญตัวมาเอง
ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำตัวซุนปินมาควบคุมไว้ที่แคว้นเว่ย มิให้ไปใช้ความรู้ความสามารถในแคว้นอื่น
โดยเฉพาะก็คือแคว้นฉีซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญในขณะนั้น
ทั้งนี้เพราะแคว้นฉีคือบ้านเกิดของซุนปินเมื่อซุนปินเดินทางไปถึงแคว้นเว่ย เขาได้แสดงให้เว่ยหุ้ยหวางเห็นถืงความรู้ความสามารถในด้านพิชัยสงครามอย่างมีเหตุมีผล
เว่ยหุ้ยหวางพิจารณาเห็นถึงความสามารถ
ก็คิดจะแต่งตั้งให้ซุนปินเป็นรองแม่ทัพบัญชาการทหารร่วมกับผังเจวียน
แต่ผังเจวียนกลัวว่าซุนปินจะเป็นที่โปรดปรานเกินหน้าตน
จึงอ้างเหตุว่าซุนปินนั้นเป็นศิษย์ผู้พี่จึงไม่สมควรที่จะรับตำแหน่งที่เป็นรองจากตน
พร้อมกันนั้นเขาก็ได้เสนอให้แต่งตั้งซุนปินเป็นขุนนางรับเชิญ
ซึ่งไม่มีอำนาจทางการทหารแทน ซึ่งเว่ยหุ้ยหวางก็เห็นด้วย
ด้วยความหวาดระแวงว่า
หากมีวันใดวันหนึ่งที่ซุนปินได้มีโอกาสได้แสดงความสามารถแล้วซุนปินก็จะกลายเป็นที่โปรดปรานของเว่ยหุ้ยหวางแทนตนไปทันที
และอาจส่งผลให้ตนต้องหลุดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไป
ดังนั้นผังเจวียนจึงคิดหาวิธีการกำจัดซุนปินอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามที่จะใส่ความกล่าวหาซุนปินต่อเว่ยหุ้ยหวางอยู่เสมอว่าซุนปินนั้นเป็นชาวแคว้นฉี จะอย่างไรก็คงมิอาจที่จะจงรักภักดีต่อแคว้นเว่ยอย่างจริงใจได้เลย
จนในที่สุดเว่ยหุ้ยหวางหลงเชื่อและมีความหวาดระแวงในตัวของซุนปินมากขึ้นตามลำดับ
เมื่อผังเจวียนเห็นเป็นไปตามแผน
เขาจึงปลอมจดหมายขึ้นฉบับหนึ่งให้เป็นจดหมายที่ซุนปินเขียนถึงเจ้าผู้ครองแคว้นฉีแล้วนำไปแสดงต่อเว่ยหุ้ยหวาง
ใส่ความว่าซุนปินลอบติดต่อกับแคว้นฉีจนเว่ยหุ้ยหวางหลงเชื่อ
และจึงสั่งให้จับตัวซุนปินขังคุกไว้
ด้วยความอยากที่จะได้ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่จากซุนปิน
ดังนั้น-ทางหนึ่งผังเจวียนก็แกล้งแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจจะช่วยเหลือมิให้ซุนปินต้องโทษประหารชีวิต ทางหนึ่งก็ใช้อำนาจสั่งคว้านสะบ้าหัวเข่าทั้งสองข้างของซุนปิน
พร้อมกับสักหน้าด้วยข้อความว่า “คบคิดต่างชาติ”
เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ซุนปินหลบหนี
และเป็นการประจานมิให้สามารถพบหน้าค่าตาใครต่อใครอีกต่อไป
ผังเจวียนแสร้งปฏิบัติต่อซุนปินเป็นอย่างดี จนซุนปินหลงเชื่อว่ามีความจริงใจต่อตนจึงยอมรับปากเขียนตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ให้เพื่อทดแทนบุญคุณ แต่ด้วยคุณธรรมของคนใช้ชราที่รู้เรื่องดี
คนใช้ชราผู้นั้นจึงบอกให้ซุนปินได้ทราบว่าหากเขาเขียนตำราพิชัยสงครามเสร็จลงวันใด นั่นก็หมายความว่าวันตายจะมาถึง
ซุนปินจึงแกล้งบ้าทุบข้าวของจนพังพินาศเผาตำราพิชัยสงครามที่เขียนจนเกือบเสร็จแล้วเสียสิ้น
ผังเจวียนจึงให้คนนำไปขังรวมไว้กับหมูและผ่อนคลายการควบคุมลง
ต่อมาฉินหัวหลีได้ร่วมคณะทูตแคว้นฉีเดินทางมายังแคว้นเว่ย
ทราบข่าวว่าซุนปินถูกลงอาญาจึงไปเยี่ยมเยียนและลอบลักพาตัวหนีออกจากแคว้นเว่ยได้สำเร็จแล้วนำตัวไปยังแคว้นฉี
ซุนปินได้แสดงความรู้ความสามารถของตนจนเป็นที่ไว้เนี้อเชื่อใจของฉีเวยหวาง
และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหาร
ในปี พ.ศ.189
ผังเจวียนยกทัพแคว้นเว่ยจำนวนแปดหมื่นคนไปตีแคว้นเจ้า
แคว้นเจ้าส่งหนังสือขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉี ฉีเวยหวางจึงแต่งตั้งเถียนจี้เป็นแม่ทัพแลให้ซุนปินเป็นเสนาธิการทหาร
ยกกองทัพไปช่วยเหลือแคว้นเจ้า
ซุนปินได้ใช้ยุทธการ “ล้อมเว่ยช่วยเจ้า” จนผังเจวียนต้องล่าถอยจากแคว้นเจ้าที่กำลังจะยึดได้สำเร็จอยู่แล้วเพื่อกลับมาป้องกันแคว้นเว่ย
นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของแคว้นฉีที่มีต่อแคว้นเว่ย
และเป็นชัยชนะครั้งแรกของซุนปินต่อผังเจวียน
เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคี่ยวในเชิงยุทธ์ของคนทั้งสองที่เติบโตและศึกษาเรียนรู้วิชาการศึกมาจากสำนักเดียวกัน
สงครามขับเคี่ยวระหว่างฉีกับเว่ยหรือการต่อสู้กับในเชิงยุทธวธีระหว่างซุนปินกับผังเจวียนได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปีที่
10 ก็ถึงจุดจบของการต่อสู้ระหว่างคนทั้งสอง
เมื่อผังเจวียนได้ยกกองทัพเว่ยไปตีแคว้นหาน แคว้นหานซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ
ไม่อาจต้านกำลังอันยิ่งใหญ่ของแคว้นเว่ยได้ จึงขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉี ซุนปินก็ได้ใช้กลยุทธ์เดิมจนผังเจวียนต้องยก ทัพกลับจากแคว้นหาน
เมื่อกองทัพแคว้นเว่ยเดินทางกลับ
ซุนปินก็วางแผนให้กองทัพแคว้นฉีแสร้งถอยร่นแลวางกลลวงเอาไว้
ผังเจวียนชะล่าใจจึงได้ออกคำสั่งทหารให้ยกกำลังไล่โจมตี
ซุนปินให้ทหารลดจำนวนซากเตาไฟให้น้อยลงเรื่อยๆ เพื่อลวงให้ผังเจวียนคิดว่าทหารแคว้นฉีหนีทัพกันมากและชะล่าใจตามไล่ล่าอย่างประมาท
ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี
เพราะผังเจวียนสั่งทหารให้ยกทัพตามโดยไม่หยุดยั้งและเต็มไปด้วยความประมาท จนกระทั่งถึงช่องแคบดอยหม่าหลิงในตอนค่ำวันหนึ่ง
ทหารกองหน้าของผังเจวียนเห็นต้นไม้ล้มขวางหน้าอยู่และที่ต้นไม้นั้นมีตัวอักษรสลักอยู่จึงรายงานต่อผังเจวียน
ขณะที่ผังเจวียนอ่านตัวอักษรบนต้นไม้นั้นซึ่งเขียนไว้ว่า
“ผังเจวียนตายอยู่ใต้ต้นไม้นี้”
ยังมิทันที่จะระวังตัวก็ปรากฏห่าเกาทัณฑ์ของทหารแคว้นฉีแหวกอากาศมาอย่างรวคเร็วประดุจห่าฝน เหล่าทหารเว่ยแตกตื่นโกลาหลถูกเกาทัณฑ์บาดเจ็บล้มตายไม่น้อย
ผังเจวียนเองก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกันเมื่อเห็นว่าหมดหนทางรอดแล้ว
จึงชักกระบี่ออกเชือดคอตาย
ก่อนตายก็ได้กล่าวอย่างคับแค้นว่า“แค้นใจที่เราไม่ฆ่าซุนปินเสียแต่แรก
วันนี้กลับเป็นผู้เสริมส่งชื่อเสียงของมันให้โด่งดังไปเสียอีก”
ซึ่งในเวลาต่อมาคำกล่าวของผังเจวียนก็กลายเป็นความจริงและเป็นความจริงอยู่แม้กระทั่งปัจจุบัน
ยุทธการครั้งสำคัญในการปราบกองทัพเว่ยของซุนปินในครั้งนี้
เรียกว่า “ยุทธการช่องแคบหม่าหลิง”
ซึ่งเป็นผลงานที่ส่งชื่อเสียงของซุนปินให้ขจรขจายไกลไปอย่างรวดเร็ว
และเป็นยุทธการครั้งสำคัญที่ทำให้แคว้นฉีมีอำนาจเหนือแคว้นเว่ย
ส่วนซุนปินนั้นหลังจากยุทธการครั้งนี้แล้วก็ลาออกจากราชการหลีกเร้นกายใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในบ้านป่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
*คำว่า “จงหยวน” หรือ “ตงง้วน”
แปลว่าดินแดนตอนกลางหรือดินแดนอันเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและความเจริญ
จักรพรรดิจีนแต่ละยุคจะกำหนดเอาภูเขาใหญ่เป็นเขตแดน
ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ การกำหนดครั้งสุดท้ายทำในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยกำหนดเอาภูเขาใหญ่ทั้งห้าเป็นเครื่องบอกเขตแดนจงหยวน ดังนี้
1.ภูเขาซงซัว(ชงชาน)
เป็นภูเขาใหญ่อันเป็นศูนย์กลางเป็นที่ตั้งของสำนักเสี้ยวลิ้มยี่
2.ภูเขาเฮ้งซัว(เหิงชาน)
เป็นเขตแดนเหนืออยู่ในเขตมณฑลฮ้อปัก(เหอเป่ย) และ
มณฑลชัวไช(ซานซี)
3.เฮว้งชัว(เหิงชาน)
เป็นเขตแดนใต้ อยู่ในมณฑลโอ้วหนำ (หูหนันหรือเหอหนาน)
4.ภูเขาไท้ซัว(ไท่ชาน)เป็นเขตแดนด้านตะวันออก
อยู่ในเขตมณฑลซัวตัว(ชานตง)เป็นภูเขาที่ใหญ่ที่สุด
ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งขุนเขาทั้งปวง
เป็นสถานที่ประกอบพิธี
เช่นสรวงเทพยดาฟ้าดินของจักรพรรดิจีนมาแต่โบราณกาล
5..ภูเขาฮั้วซัว(หัวชาน) อยู่ในมณฑลเซียมไซ(ซานซี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น