วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 6

5
ศึกชิงเจ้าปฐพีปลายยุครณรัฐ
การสัประยุทธ์ระหว่างฉินกับเจ้า ฉีและเว่ย



ในปลายยุคจ้านกว๋อ การรบสู้ระหว่างแคว้นต่างๆ ยิ่งเข้มข้นขึ้นตามลำดับ  แต่ละแคว้นต่างก็พยายามเฟ้นหานักปราชญ์มาเสริมกำลังตนให้เข้มแข็ง ในขณะเดียวกัน “ปราชญ์” เองก็พยายามเสนอตัวต่อผู้ปกครองของแคว้นต่างๆ  เพื่อแสดงความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมือง
ชูฉิน- ศิษย์สำนักหุบผาปีศาจรุ่นหลังซุนปินและผังเจวียน ได้ใช้กลยุทธ์ประสานแนวดิ่งเพื่อรวมพลังหกแคว้นต่อต้านแคว้นฉินได้เพียงไม่กี่ปี  ก็ถูกศิษย์ร่วมสำนัก คือจางอี้ ใช้กลยุทธ์เชื่อมแนวขวางทำลายพันธมิตรแนวดิ่งได้สำเร็จ  แคว้นทั้งหกอันประกอบด้วย ฉี ฉู่ เว่ย หาน และเอี้ยน  ก็แตกแยกกันจนไม่มีโอกาสที่จะร่วมมือกันอีกเลย
ในขณะที่ตัวของชูฉินเอง หลังจากที่ครองตำแหน่งอัครเสนาบดีหกแคว้นได้ไม่นาน ก็ถูกเหล่าขุนนางผู้เสียผลประโยชน์ทั้งหกแคว้นรวมหัวกันต่อต้านทวงตำแหน่งของตนคืน ขจัดชูฉินออกจากเส้นทางการเมืองส่งตัวไปเป็นอัครเสนาบดีเมืองนรกในที่สุด
ส่วนจางอี้นั้นเล่าก็หาได้มีบั้นปลายชีวิตที่ดีไปกว่าซูฉินสักเท่าใดไม่  พอเหล่าขุนนางผู้สูญเสียประโยซน์ของแคว้นฉินเห็นว่าจางอี้คนนี้ชักจะเป็นที่โปรดปรานและมีผลงานดีเด่นเกินหน้าเกินตาพวกตน ก็รุมกันกล่าวหาใส่ร้ายจนเจ้าผู้ครองแคว้นฉินชักจะไม่ค่อยไว้วางใจ  ดีแต่จางอี้ไหวตัวทัน  จึงใช้ลิ้นน้อยๆ ของเขากล่าวเจรจาจนสามารถหลบลี้หนีหน้าจากแคว้นฉินไปพำนักอยู่แคว้นเว่ย จางอี้พำนักอยู่แคว้นเว่ยไม่นานก็ล้มป่วยและเสียชีวิตในที่สุด
หมดยุคของซูฉินกับจางอี้แล้ว ก็เข้าสู่ยุคของฟ่านซุย (ฮวมซุยในเลียดก๊ก)เจ้าของกลยุทธ์ “สามัคคีแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้” อันเป็นกลยุทธ์ที่จิ๋นซีฮ่องเต้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรวมอาณาจักรได้สำเร็จในอีกเพียงครึ่งศตวรรษต่อมา
ภาพยนตร์ชุด “ศึกชิงเจ้าปฐพี” เปิดเรื่องด้วยบทบาทของซูฉินและจางอี้ นับแต่ทั้งคู่ลงจากหุบผาปีศาจพร้อมกับคัมภีร์ “ไท่กงอิน” คนละครึ่งเล่ม แล้วใช้วิชาความรู้จากคัมภีร์ขับเคี่ยวกันจนจบชีวิตลงทั้งสองคน ทำให้เด็กหนุ่มนาม “ฟ่านซุย” ฉกชิงคัมภีร์ “ไท่กงอิน” ทั้งสองส่วนไปได้  ซึ่งก็กลายเป็นว่าฟ่านซุยมีคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์อยู่ในมือ และเป็นปมสำคัญที่นำไปสู่การขับเคี่ยวกันทางการเมืองและการล้างแค้นกันเป็นการส่วนตัวระหว่างฟ่านซุยฝ่ายหนึ่ง กับเมิ่งฉางจวิน ซิ่นหลิงจวินและผิงหยวนจวิน อีกฝายหนึ่ง
ฟ่านซุยกุมนโยบายสำคัญของแคว้นฉิน ในขณะที่เมิ่งฉางจวิน  ่ซิ่นหลิงจวินและผิงหยวนจวินกุมนโยบายสำคัญของแคว้นฉี เว่ย และเจ้า ตามลำดับ  นับเป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านแคว้นฉินเป็นครั้งสุดท้ายของแคว้นฉี เว่ย และเจ้า  แต่น่าเสียดายที่มิอาจดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการรวมตัวกันบนพื้นฐานของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
อันว่าฟ่านซุยนั้นถือกำเนิดจากครอบครัวยากจนในแคว้นเว่ย ในวัยหนุ่มมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข  มีความตั้งใจที่จะรับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาของเว่ยหวาง  แต่ด้วยเหตุที่มิได้เกิดมาในตระกูลผู้ดีเก่า  ฉะนั้นจึงถูกขัดขวางจากเสนาบดีคนสำคัญนามเว่ยฉี ฟ่านซุยจึงได้ไปขออาศัยอยู่กับซูเจี่ยซึ่งเป็นขุนนางระดับกลาง  หวังให้ซูเจี่ยสนับสนุนให้มีตำแหน่งทางการเมือง
ต่อมาฟ่านซุยได้ติดตามซูเจี่ยซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตเดินทางไปเจรจากับแคว้นฉี ฟ่านซุยได้แสดงความสามารถในเชิงการทูตจนฉีเซียงหวางมีความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง  ถึงกับลอบส่งคนไปติดสินบนเกลี้ยกล่อมให้ฟ่านซุยพำนักอยู่ที่แคว้นฉี  แต่ฟ่านซุยยังมีความหวังที่จะได้ทำนุบำรุงแคว้นเว่ยอยู่จึงปฎิเสธ  เมื่อซูเจี่ยทราบเข้าก็เกิดสงสัยว่าฟ่านซุยจะคบคิดกับแคว้นฉีในการที่เป็นภัยต่อแคว้นเว่ย  จึงบอกเรื่องราวทั้งหมดต่อเว่ยฉี  เว่ยฉีจึงให้จับตัวฟ่านซุยมาคาดคั้นเอาความจริงและกระทำทารุณกรรมฟ่านซุยจนกระดูกขาหักสลบไป เว่ยฉีเข้าใจว่าฟ่านซุยตายแล้วจึงให้นำไปขังไว้ในห้องอาจม เมื่อฟ่านซุยฟื้นมาจึงได้ติดสินบนผู้คุม  หลบหนีออกจากที่กักขังได้ กลับถึงบ้านก็วางแผนให้ภรรยาจัดงานศพของตนเพื่อลวงเว่ยฉี  ส่วนตัวเองก็ได้หลบหนีไปพำนักรักษาตัวอยู่กับเพื่อนรักนามเจิ้นอันผิงจนกระทั่งหายเป็นปกติ  เปลี่ยนชื่อเป็นจางลู่หลบช่อนเร้นภัยจากเว่ยฉีอยู่บนภูเขา
ฉินเจาหวางส่งหวางจีเป็นทูตมายังแคว้นเว่ย หวางจีได้ทราบเรื่องว่าฟ่านซุยถูกทำร้ายจึงตามหาจนกระทั่งพบชักชวนให้ไปอยู่แคว้นฉินกับตน หวางจีแนะนำตัวฟ่านซุยต่อฉินเจาหวาง ฟ่านซุยได้แสดงออกถึงภูมิรู้และความสามารถจนเป็นที่พอใจของฉินเจาหวางอย่างยิ่ง ฉินเจาหวางจึงแต่งตั้งให้เขาเป็นเสนาบดีกลาโหมเพื่อดำเนินงานที่สำคัญคือการยึดครองแคว้นทั้งหก ฟ่านซุยจึงเสนอกลยุทธ์ “สามัคคีแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้” โดยวางแผนการให้แคว้นฉินเจรจาเป็นมิตรกับแคว้นฉีและฉู่  ตระเตรียมการยึดครองแคว้นหานและเว่ย รวมทั้งตั้งเป้าการยึดครองแคว้นเจ้าและเอี้ยนไว้เป็นลำดับต่อไป  เมื่อยึดครองทั้งสี่แคว้นนี้ได้แล้วจึงค่อยยึดแคว้นฉีและฉู่เป็นอันดับสุดท้าย
ในที่สุดฟ่านซุยก็ได้รับความไว้วางใจจากฉินเจาหวางให้เป็นผู้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่เขาเสนอไปดังกล่าว
ที่แคว้นฉี-เมิ่งฉางจวินผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ครองเมืองเซียต่อจากเถียนอิงผู้บิดา ได้ถูกส่งตัวไปเป็นตัวประกันอยู่ที่แคว้นฉิน  หลังจากที่หนีกลับมาได้ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดี  ฉินเจาหวางรู้ดีว่าเมิ่งฉางจวินเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง หากอยู่ในตำแหน่งก็อาจทำให้แคว้นฉีมีความเข้มแข็งขึ้น  เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมฉินเจาหวางจึงวางแผนส่งคนมายุยงจนกระทั่งฉีอ๋องเกิดความริษยาและไม่ไว้วางใจเมิ่งฉางจวิน (แต่หลักฐานบางกระแสบันทึกว่าเมิ่งฉางจวินได้ร่วมมือกับเชื้อพระวงศ์บางคนคิดก่อการขบถ) ฉีหวางจึงสั่งปลดเมิ่งฉางจวินออกจากตำแหน่ง  เมิ่งฉางจวินจึงหลบไปอยู่ที่เมืองเซีย  เมื่อเดินทางไปถึงชาวเมืองทั้งหมดได้ให้การต้อนรับและให้การคุ้มครองเป็นอย่างดี  จนเป็นที่แปลกใจของเมิ่งฉางจวินเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะบริวารคนหนึ่งที่ชื่อเฝิงฮวนได้หาทางหนีทีไล่ไว้ให้แล้วด้วยแผน “กระต่ายปัญญาดีต้องมีสามโพรง” ซึ่งกำหนดให้เมืองเซียเป็นโพรงแรกสำหรับหลบลี้ภัย
แผน “กระต่ายปัญญาดีต้องมีสามโพรง” นี้ เป็นแผนที่ถูกเฝิงฮวนกำหนดขึ้น  โดยที่ตัวของเมิ่งฉางจวินไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้า  เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งเมิ่งฉางจวินสั่งให้บริวารไปเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ของตนที่เมืองเซีย  เพื่อนำกลับมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบริวาร  เฝิงฮวนรับอาสาที่จะไปทำหน้าที่นี้พร้อมทั้งสัญญาว่าเมื่อกลับมาจะนำของขวัญที่มีค่ากลับมาให้ด้วย  เมื่อเดินทางไปถึงเมืองเซียแทนที่เฝิงฮวนจะรีบเก็บดอกเบี้ยในทันที  กลับเก็บเอาบัญชีเงินกู้ของลูกหนี้ที่ยากจนซึ่งยากที่จะใช้หนี้ได้ มาเผาทิ้งเสีย  พร้อมทั้งประกาศว่าการที่เมิ่งฉางจวินให้ชาวเมืองเซียกู้เงินนั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือ มิได้หวังจะค้ากำไรจากชาวเมือง  จากนั้นเฝิงฮวนก็กลับเมืองหลวงด้วยมือเปล่าเข้ารายงานต่อเมิ่งฉางจวิน  ถึงแม้เมิ่งฉางจวินจะไม่ค่อยพอใจการกระทำของเฝิงฮวนนักแต่เขาก็มิได้กล่าวโทษอะไร  ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียอำนาจนั่นแหละจึงรู้ว่าของขวัญที่เฝิงฮวนนำมาให้นั้นมีค่าอย่างไร
จากนั้นเฝิงฮวนจึงวางแผนสร้างโพรงที่สองและสามให้ โดยการเดินทางไปแคว้นฉิน พูดเกลี้ยกล่อมจนฉินเจาหวางส่งคนไปเชิญตัวเมิ่งฉางจวินไปรับราชการที่แคว้นฉิน  จากนั้นจึงเดินทางไปยังเมืองหลวงแคว้นฉี  แจ้งข่าวฉินเจาหวางกำลังส่งคนมาเชิญเมิ่งฉางจวิน  ฉีหมิ่นหวางส่งคนไปสืบดูเห็นเป็นจริงดังที่เฝิงฮวนบอก จึงรีบส่งคนไปเชิญตัวเมิ่งฉางจวินกลับเมืองหลวง  คืนตำแหน่งให้พร้อมทั้งยกเมืองบำนาญให้อีกพันครัวเรือน  ทำให้สถานะทางการเมืองในแคว้นฉีของเมิ่งฉางจวินมีความมั่นคงขึ้น
ในภาพยนตร์ชุดศึกชิงเจ้าปฐพี หลังจากที่เมิ่งฉางจวินเดินทางไปอยู่เมืองเซียได้ระยะหนึ่งก็เดินทางไปยังแคว้นเว่ย พำนักอยู่กับซิ่นหลิงจวินผู้เป็นสหาย ช่วยเหลือให้ซิ่นหลิงจวินมีฐานะมั่นคงอยู่ในแคว้นเว่ย พร้อมกันนั้นก็ได้ช่วยกันกำจัดฟ่านซุยออกจากแคว้นเว่ยได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ.259 เอี้ยนเจาหวางแต่งตั้งเล่ออี้เป็นแม่ทัพเข้าตีแคว้นฉี  เล่ออี้ยกทัพรุกเข้าดินแดนแคว้นฉียึดเมืองต่างๆ ของแคว้นฉีได้มากกว่าเจ็ดสิบหัวเมือง    จากนั้นก็บุกเข้าตีนครหลินจือเมืองหลวงแคว้นฉี  ฉีหมิ่นหวางหลบหนีไปอยู่ที่เมืองหลี่ใกล้แคว้นฉู่ และถูกขุนพลแคว้นฉู่ฆ่าตาย  เมิ่งฉางจวินต้องเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ แต่แคว้นฉียังคงไม่ถึงคราวพินาศ ดังนั้นในการสงครามครั้งนี้จึงเกิดมีวีรบุรุษขึ้นมาคนหนึ่งคือ “อันผิงจุนเถียนตัน” ซึ่งสามารถรวบรวมกำลังทหารต่อสู้ต้านทานกองทัพแคว้นเอี้ยนอย่างเหนียวแน่นอยู่ที่เมืองจี๋ม่อ จากนั้นจึงวางแผนปล่อยข่าวให้เอี้ยนเจาหวางเกิดความระแวงในตัวของเล่ออี้และส่งซีเจี่ยมาเป็นแม่ทัพแทน  เล่ออี้ต้องหลบหนีไปอยู่แคว้นเจ้า  เมื่อสิ้นเล่ออี้อันผิงจุนเถียนตันก็สามารถตีทัพของซีเจี่ยจนแตกพ่ายกลับไป  ยึดเมืองต่างๆ ที่ทัพเอี้ยนยึดครองเอาไว้คืนมาได้ทั้งหมด  แต่ก็มิอาจที่จะทำให้แคว้นฉีฟื้นตัว    ขึ้นมาได้อีกเลย
ทางด้านแคว้นฉู่ ฟ่านซุยได้วางแผนเป็นมิตรไม่รุกรานซึ่งกันและกันตามกลยุทธ์ “สามัคคีแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้” โดยการวางแผนสร้างบุญคุณต่อสงอ๋วนบุตรของฉู่ชิ่งเซียงหวางผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นรัชทายาท
ฟ่านซุยใช้แผนเปิดโอกาสให้สงอ๋วนซึ่งขณะนั้นถูกส่งไปเป็นตัวประกันอยู่ที่แคว้นฉินสามารถหลบหนีกลับแคว้นฉู่เพื่อดูแลบิดาเป็นครั้งสุดท้ายได้ ทำให้สงอ๋วนเกิดความซาบซึ้งในบุญคุณของฟ่านซุยและฉินเจาหวาง  เมื่อสงอ๋วนได้ขึ้นครองแคว้นฉู่เป็นฉู่เซี่ยวเลี่ยหวางจึงยอมรับสถานภาพความเป็นมิตรกับแคว้นฉิน  เปิดโอกาสให้แคว้นฉินทำสงครามยึดครองแคว้นหานและแคว้นเจ้าโดยไม่ต้องพะวงกับแคว้นฉู่
ในปี พ.ศ.281  ฉินเจาหวางให้หวางเฮ่อเป็นแม่ทัพ  นำกองทัพฉินบุกแคว้นหาน จากนั้นก็ยกเข้าประชิดด่านฉางผิงของแคว้นเจ้า  แคว้นเจ้าส่งแม่ทัพเหลียนพอไปตั้งรับ เหลียนพอใช้กลยุทธ์ตั้งรับโดยไม่รบปล่อยให้ทัพฉินอ่อนกำลังไปเอง  ทัพฉินล้อมอยู่ถึงสามปีก็มิอาจตีฉางผิงแตกได้  ฟ่านซุยจึงใช้แผนส่งไส้ศึกไปปล่อยข่าวและยุยงให้เจ้าเซี่ยวเฉิงหวางไม่พอใจเหลียนพอ  และปลดเหลียนพอออกจากตำแหน่ง จากนั้นก็ส่งเจ้าควอไปเป็นแม่ทัพแทน  เมื่อเจ้าควอรับตำแหน่งแม่ทัพก็ให้เปลี่ยนกลยุทธ์เสียใหม่จากการตั้งรับเป็นรุก เปิดโอกาสให้ทัพฉินซึ่งส่งไป๋ฉี่มาเป็นแม่ทัพแทนหวางเฮ่อ  เผด็จศึกฉางผิงได้อย่างรวดเร็วแล้วเคลื่อนทัพใหญ่เข้าล้อมเมืองหลวงหานตานของแคว้นเจ้าเอาไว้ในปี พ.ศ.283
เมื่อการณ์กลับเป็นเช่นนี้ เจ้าเซียงผิงหวางซึ่งขึ้นครองแคว้นเจ้า แทนเจ้าเซี่ยวเฉิงหวาง  ก็ต้องทำตามแผนการของผิงหยวนจวินที่ให้ขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉู่และแคว้นเว่ย อันเป็นการร่วมมือเป็นพันธมิตรต่อต้านฉินเป็นครั้งสุดท้ายของแคว้นต่างๆ ทั้งหกแคว้น  เพราะหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้แล้วก็ไม่มีอีกเลยที่จะเกิดมีพันธมิตรต่อต้านแคว้นฉินขึ้น
ผิงหยวนจวินเดินทางไปเจรจาข้อความช่วยเหลือจากแคว้นฉู่พร้อมด้วยบริวาร 20 คน โดยมีบริวารคนหนึ่งชื่อเหมาสุยเป็นผู้ที่ช่วยเหลือให้การเจรจาจนประสบความสำเร็จ  เหมาสุยใช้ทั้งวิธีการขู่บังคับและพูดจาเกลี้ยกล่อมจนฉู่เซี่ยวเลี่ยหวางยอมช่วยแคว้นเจ้า โดยให้ซุนเซินจุนเป็นแม่ทัพยกทหารแปดหมื่นไปช่วยแคว้นเจ้า
จากนั้นผิงหยวนจวินก็เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากแคว้นเว่ย  ฉินเจาหวางจึงส่งคนไปขู่มิให้เว่ยอันหลีอ๋องส่งกองทัพไปช่วย  เว่ยอันหลีหวางจึงให้แม่ทัพจิ้นที่กำลังจะยกทัพเว่ยไปช่วยแคว้นเจ้าหยุดทัพก่อน  ซุนเซินจุนรู้ข่าวว่าทัพเว่ยหยุดรออยู่ยังไม่ยกไปช่วยแคว้นเจ้าจึงหยุดทัพของตนบ้าง ผิงหยวนจวินรู้ข่าวจึงเดินทางไปหาซิ่นหลิงจวิน  ขอร้องให้ซิ่นหลิงจวินช่วยเกลี้ยกล่อมเว่ยอันหลีหวาง  ผิงหยวนจวินเกลื้ยกล่อมไม่สำเร็จ  จึงขอความช่วยเหลือจากนางหยูจีหม่อมคนโปรดของเว่ยอันหลีหวาง นางหยูจีรำลึกถึงบุญคุณของซิ่นหลิงจวินเมื่อครั้งที่เขาเคยช่วยจับฆาตกรที่ฆ่าบิดาของนาง  นางจึงขโมยตราอาญาสิทธ์บัญชาการกองทัพเว่ยของเว่ยอันหลีหวางมาให้  ซิ่นหลิงจวินจึงใช้ตราอาญาสิทธ์บัญชาการทัพยึดอำนาจบัญชาการทัพจากจิ้นปี่  เคลื่อนพลไปช่วยแคว้นเจ้าทันที
ฝ่ายซุนเซินจุน เมื่อเห็นว่าแคว้นเว่ยเคลื่อนทัพไปช่วยแคว้นเจ้าแล้ว  จึงสั่งเคลื่อนทัพของตนเข้าตีกระหนาบแคว้นฉินอีกทางหนึ่งทันที  เป็นผลให้ทัพฉินถูกตีกระหนาบทั้งสามด้านแตกพ่ายไม่เป็นกระบวน  แคว้นฉินต้องสูญเสียดินแดนแถบเหอตงที่เคยยึดจากแคว้นเว่ยคืนให้แคว้นเว่ยไป  สูญเสียดินแดนแถบไท่หยวนให้กับแคว้นเจ้า ปล่อยให้แคว้นฉู่หลงลำพองไปได้อีกระยะหนึ่ง  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หาได้ทำให้แคว้นฉินอ่อนแอลงไปไม่
สงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสำคัญที่ปรากฏในภาพยนตร์ชุดศึกชิงเจ้าปฐพี บทบาทของฟ่านซุยในการช่วยแคว้นฉินรวมเผ่นดินจีนก็ยุติลงหลังสิ้นสงคราม  ตามในภาพยนตร์ฟ่านซุยถูกผิงหยวนจวิน ซิ่นหลิงจวินและสมัครพรรคพวกร่วมมือกันกำจัด  ด้วยเหตุที่ฟ่านซุยได้เพาะความแค้นให้กับคนกลุ่มนี้ไว้มาก
ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามครั้งนี้  ฉินและเจ้าได้ทำสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกันและแลกตัวประกันกันอยู่  ตัวประกันของแคว้นฉินที่ถูกส่งมายังแคว้นเจ้า  ได้แก่อิ๋งอี้เหรินบุตรผู้หนึ่งของอันกว๋อจุนรัชทายาทของฉินเจาหวาง ในระหว่างสงครามอิ๋งอี้เหรินถูกควบคุมตัวและได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากผู้ปกครองแคว้นเจ้าเป็นอย่างมาก  หลังจากสงครามยุติลงแล้วได้ปรากฏคนผู้หนึ่งขึ้นในนครหานตานเมืองหลวงแคว้นเจ้า  บุคคลผู้นี้เป็นพ่อค้ามาจากเมืองผูหยางนาม-หลี่ปู้เหว่ย  เขาเดินทางมานครหานตานครั้งนี้เพื่อที่จะประกอบการค้าที่เป็นอาชีพครั้งสุดท้ายในชีวิต  ขณะเดียวกันเขาก็คิดการประกอบการค้าชิ้นใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมขึ้นที่นี่
และนี่คือบทเริ่มต้นของการประกอบ “ธุรกิจการเมือง” ของนักการเมืองผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 5


4
สงครามระหว่างฉู่กับฉิน
กวีเอกชูหยวนผู้ไม่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า 


หลังจากที่แคว้นฉีรุ่งเรืองขึ้นมาแทนแคว้นเว่ยได้ไม่นานนัก แคว้นฉินที่เคยล้าหลังและไม่อยู่ในความสนใจของแคว้นอื่นๆ เลย  ก็เริ่มเปล่งรัศมีแห่งความเป็นมหาอำนาจขึ้นมาอย่างรวดเร็ว  โดยฝีมือการปฏิรูปกฎหมายและการปกครองของ “เว่ยเอียง” หรือ “ซางเอียง” (ซางยาง) ในรัชสมัยฉินเสี้ยวกงเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น  ทำให้แคว้นฉินผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของแคว้นฉี นับแต่นั้นมาแคว้นต่างๆ ก็เริ่มหันไปให้ความสำคัญกับแคว้นฉิน และเริ่มหาทางป้องกันตัวเองจากการรุกรานของแคว้นฉิน
ในยุครุ่งเรืองของแคว้นฉีและแคว้นฉินนี้ เกิดมีบุคคลสำคัญขึ้นสองคนด้วยกัน คือ ซูฉินผู้เป็นเจ้าของกลยุทธ์ “ประสานแนวดิ่ง” กับ จางอี้ (เตียอี๋)  เจ้าของกลยุทธ์ “เชื่อมแนวขวาง” สองคนนี้ก็เป็นศิษย์ของของกุ่ยกู่จื่อรุ่นเดียวกันและเป็นศิษย์รุ่นหลังของซุนปินและผังเจวียน (ในเรื่องคัมภีร์มรณะได้กล่าวถึงตอนที่ซุนปินออกจากสำนักหุบผาปีศาจแล้ว ก็มีการกล่าวถึงการรับศิษย์ใหม่ของกุ่ยกู่จื่อไว้ด้วย  ศิษย์ใหม่ทั้งสองคนที่กุ่ยกู่จื่อรับไว้ก็คือซูฉินและจางอี้นี่เอง) ต่อมาทั้งสองคนนี้ก็ขับเคี่ยวกันแทนซุนปินกับผังเจวียน โดยที่ชูฉินนั้นใช้กลยุทธ์รวมพลังหกแคว้นต่อต้านแคว้นฉิน ในขณะเดียวกันจางอี้ก็ใช้กลยุทธ์แยกสลายพลังของหกแคว้นเพื่อกลืนแคว้นต่างๆ เข้ากับแคว้นฉิน
ในท่ามกลางการขับเคี่ยวอย่างรุนแรงระหว่างกลยุทธ์ประสานแนวดิ่งกับเชื่อมแนวขวางนั้น สงครามระหว่างแคว้นฉินกับแคว้นฉู่ได้แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของกลยุทธ์เชื่อมแนวขวางและความล้มเหลวของกลยุทธ์ประสานแนวดิ่งได้อย่างชัดเจนที่สุด  สงครามระหว่างฉู่และฉินมีปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “กวีเอกคุง้วน” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากประวัติของกวีเอกคุง้วนหรือชูหยวนอันเป็นจินตกวีเอกคนแรกของจีนและเป็นขุนนางผู้ปราดเปรื่อง ผู้ซึ่งไม่ยินยอมอ่อนข้อให้กับเหล่ากังฉินและ  ชนชั้นผู้ดีเก่าที่กดขี่ขูดรีดเหล่าอาณาประชาราษฎร์
คุง้วนหรือชูหยวน(ในนิยายอิงพงศาวดารเรื่องไซฮั่นเรียกคุดหงวน)  สืบเชื้อสายประยูรวงศ์กษัตริย์แคว้นฉู่  เกิดในปีที่ 27 แห่งรัชกาลฉู่ซวนหวาง ตรงกับปี พ.ศ.203 มีชื่ออีกชื่อหนึ่ง “ชูผิง” รับราชการอยู่ในรัชสมัยของฉู่ไหวหวาง ด้วยความปรีชาสามารถฉลาดเฉลียวและความซื่อสัตย์สุจริต ชูหยวนจึงได้รับความไว้วางใจของฉู่หวยอ๋องเป็นอย่างสูง  ดังนั้นด้วยอายุเพียง 25 ปี ท่านก็สามารถที่จะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็น“จั่วถู”หรือรองอัครมนตรี(เทียบได้กับรองนายกรัฐมนตรีสมัยนี้)
ชูหยวนมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนทำนุบำรุงแคว้นฉู่ให้มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง ให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข  ความพยายามที่จะปฏิรูปกฎหมายใหม่ของท่าน ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเห็นพ้องต้องกันระหว่างท่านกับฉู่ไหวหวาง เนื่องเพราะฉู่ไหวหวางเองก็มีความประสงค์ที่จะขจัดอำนาจอิทธิพลของกลุ่มผู้ดีเก่าซึ่งมีจิ้นซ่างเป็นผู้นำสำคัญ ในขณะจิ้นซ่างนั้นได้รับการสนับสนุนจากสนมคนโปรดเจิ้งสิ้วของฉู่ไหวหวางเอง  ดังนั้นแม้ฉู่ไหวหวางจะเห็นด้วยกับชูหยวน แต่อุปสรรคก็ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่เริ่มต้น หลังจากที่ชูหยวนเริ่มงานปฏิรูปกฏหมายและการเมืองได้ไม่นานนัก ก็ได้รับการขัดขวางจากกลุ่มผู้ดีเก่าที่พยายามปรักปรำให้ร้ายชูหยวนอยู่ตลอดเวลา จนฉู่ไหวหวางเองก็เริ่มเปลี่ยนพระทัยไปเชื่อฝ่ายผู้ดีเก่ามากขึ้น และเหินห่างชูหยวนไปตามลำดับ  กระทั่งไม่ให้ความสนพระทัยต่อการปฏิรูปของชูหยวนอีกเลยในเวลาต่อมา   ฉะนั้นแม้ว่าชูหยวนจะพยายามที่จะเสนอแนวคิดที่แยบคายสักปานใดก็ตาม ท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะกราบทูลแสดงความคิดเห็นต่อฉู่ไหวหวางอย่างใกล้ชิดอีกต่อไป  ชูหยวนจึงเริ่มหมดหวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและได้ใช้เวลาไปในทางการประพันธ์กวีนิพนธ์มากขึ้น

ทางด้านแคว้นฉินนั้นเล่าก็ต้องการที่จะยึดครองแคว้นฉู่ให้ได้  แต่ด้วยผลงานที่สำคัญของชูหยวนตั้งแต่เมื่อยังเป็นที่โปรดปราน คือ  การทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉีตามกลยุทธ์ประสานแนวดิ่งของซูฉิน ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แคว้นฉินจึงเห็นว่าถึงจะอย่างไรชูหยวนก็ยังคงเป็นก้างขวางคอชิ้นโตที่จะต้องกำจัดเสียก่อน  จากนั้นจึงค่อยพิชิตแคว้นฉู่ มิฉะนั้นแล้วแผนการยึดครองแคว้นฉู่ก็มิอาจสำเร็จได้
ดังนั้นจางอี้เจ้าของยุทธการเชื่อมแนวขวางจึงวางแผนทำลายกลยุทธ์เชื่อมแนวดิ่งที่แคว้นฉู่
แผนการทำลายกลยุทธ์เชื่อมแนวดิ่งของจางอี้จึงเริ่มต้นด้วยการใช้ทองคำติดสินบนจิ้นซ่างและนางเจิ้งสิ้วหัวโจกของกลุ่มผู้ดีเก่าที่เป็นคู่แค้นของชูหยวน ให้ทั้งสองคนนี้รวมทั้งจื่อหลานบุตรชายคนโปรดของฉู่ไหวหวาง  ตลอดจนขุนนางในสังกัดหรือกลุ่มของจิ้นซ่างช่วยกันกราบทูลยุยงให้ฉู่ไหวหวางขับไล่ชูหยวนออกจากราชการ และให้ฉู่ไหวหวางประกาศตัดสัมพันธ์กับแคว้นฉี  โดยใช้ดินแดน 600 ลี้เป็นข้อแลกเปลี่ยน  แต่หลังจากที่ฉู่ไหวหวางประกาศตัดสัมพันธ์กับแคว้นฉีแล้ว แคว้นฉินหาได้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ ฉู่ไหวหวางจึงยกกองทัพบุกเข้าโจมตีแคว้นฉินใน พ.ศ.231  และประสบกับความพ่ายแพ้กลับมา มิหนำซ้ำยังถูกแคว้นฉินยกทัพบุกเข้ายึดเอาดินแดนบางส่วนไปอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้วทางฝ่ายแคว้นฉีซึ่งไม่พอใจต่อการกระทำของแคว้นฉู่ที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ก็ได้ยกทัพเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของแคว้นฉู่ด้วยเช่นกัน  
ดูเหมือนว่าฉู่ไหวหวางและกลุ่มผู้ดีเก่าจะไม่ยอมมองข้อผิดพลาดของตนเลย   มิหนำหูตายังมืดมัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก  ฉะนั้นเมื่อจางอี้วางแผนเสนอข้อตกลงให้ฉู่ไหวหวางเดินทางไปเจรจากับเจ้าผู้ครองแคว้นฉินที่ด่านอู่กวน  ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากจิ้นซ่างและพรรคพวก   ฉู่ไหวหวางก็ยินยอมไปเจรจากับตัวแทนแคว้นฉิน จึงถูกกองกำลังของแคว้นฉินจับตัวไว้ได้ และถูกกักขังไว้จนกระทั่งถึงแก่กรรมในอีกสามปีต่อมา
หลังจากที่ฉู่ไหวหวางถึงแก่กรรมแล้ว ฉู่ฉิงเซี่ยงหวางได้ขึ้นครองราชย์แทน  ชูหยวนหวังว่ากษัตริย์องค์ใหม่น่าจะเคียดแค้นที่บิดาของพระองค์หลงกลแคว้นฉินจนถูกกักขังไว้จนตาย จึงเสนอให้ฉู่ฉิ่งเซี่ยงหวางลงโทษจิ้นซ่างและพวกเป็นการแก้แค้นแทนบิดา แต่ก็ไร้ผล  เพราะมิเพียงฉู่ฉิ่งเซี่ยงหวางจะไม่ลงโทษจิ้นซ่างกับพวกเท่านั้น ตัวของชูหยวนเองกลับเป็นผู้ถูกลงโทษขับไล่ออกจากราชการแทน และถูกเนรเทศไปอยู่แถบเชียงหนาน  ห้ามมิให้เหยียบย่างกลับเข้าสู่เขตเมืองหลวงอีกต่อไปอย่างเด็ดขาด
ชูหยวนจำต้องออกเดินทางจากหยิ่งตูเมืองหลวงของแคว้นฉู่ด้วยความเศร้ารันทดใจที่มิอาจช่วยกอบกู้ชะตากรรมของบ้านเมืองได้ ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ.247 ชูหยวนมีอายุได้48 ปี ในขณะที่ถูกเนรเทศนี้ชูหยวนได้แต่งบทกวีแสดงถึงความคิดทางสังคมและการเมือง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงปณิธานอย่างแน่วแน่ของตนเอง  ไว้หลายบทด้วยกัน เช่น แต่งบทกวี “จี๋ซ่ง” (สดุดีส้ม)เพื่อบ่งบอกถึงความแน่วแน่ในคุณธรรมของตน  แต่ง “จิ่วเกอ” (เก้าเพลง) เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะให้ประชาชนพร้อมใจกันกำจัดความชั่วร้าย ขุนนางกังฉินและทรราชให้หมดไป เพื่อบ้านเมืองจะได้มีความมั่นคง  แต่ง “หลี่เซ่า” (นิราศรันทด) แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมืองและความรันทดใจที่เห็นแคว้นฉู่ล่มสลาย  แต่ง “เทียนเวิ่น” (ถามฟ้า) เป็นคำถามเกี่ยวกับฟ้า ดิน มนุษย์และปรัชญา ราว 170 คำถาม
ในปี พ.ศ.265 ขณะนั้นชูหยวนอายุได้ 66 ปี หยิ่งตูเมืองหลวงของแคว้นฉู่ถูกกองทัพแคว้นฉินบุกเข้ายึดครองได้สำเร็จ ชูหยวนจึงแต่งบทกวี “อายหยิ่ง”(สมเพชหยิ่งตู) ขึ้น บทกวีชิ้นนี้มีเนี้อหาแสดงความโศกระทมที่แคว้นฉู่ต้องสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน  แต่ง “เส้อเจียง” (ท่องธาร)  เพื่อเป็นการยืนยันว่าตนจะไม่ยอมดำรงชีวิตอยู่อย่างเหลวไหลไร้คุณค่า  แต่งบทกวี่ชื่อ “ซือหว่างยื่อ” (อาลัยอดีต) และ “หวยซา” (โอบทราย) แสดงถึงความมืดมนสิ้นหวังของแคว้นฉู่  แล้วจึงโอบอุ้มก้อนหินใหญ่กระโดดลงสู่แม่น้ำมี่หลอเจียง เมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5  ปี พ.ศ.265
ชูหยวนเป็นทั้งกวีและขุนนางที่ยืนเคียงข้างผลประโยชน์ของประชาชน ท่านจึงเป็นที่รักของประชาชนอยู่ตลอด  ดังนั้นเมื่อชาวประมงแถบนั้นรู้ว่าชูหยวนกระโดดน้ำตาย ต่างก็พากันเอาเรือออกไปค้นหาศพ  และเพื่อป้องกันมิให้ปลามาแทะกินศพ ชาวประมงจึงเอาข้าวและขนมจ้างโยนลงไปในน้ำด้วย  แต่ก็ไม่สามารถที่จะค้นหาศพพบ  ต่างก็กลับไปด้วยความผิดหวัง   และเพื่อเป็นการรำลึกถืงจินตกวีท่านนี้ ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีหลังจากนั้นมา  พวกเขาก็จะพากันมาล่องเรือโยนขนมจ้างลงในแม่น้ำเพื่อเป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณของชูหยวน  การกระทำเป็นนี้จึงกลายเป็นประเพณีไปในที่สุด ตั้งแต่นั้นมาพอถึงวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกๆ ปี ชาวจีนก็จะจัดให้มีการแข่งเรือมังกรและทำขนมจ้างเพื่อรำลึกถึงชูหยวนจินตกวีเอกผู้รักชาติรักประชาชนสืบทอดต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้  มีชื่อเรียกว่า “เทศกาลวันสารทตวนอู่” หรือ “เทศกาลสารทขนมจ้าง”
ในภาพยนตร์เรื่อง “กวีเอกคุง้วน” ได้เน้นให้เห็นถึงอุดมคติเพื่อชาติเพื่อประชาชนของชูหยวนอย่างแจ่มชัด  โดยที่กล่าวถึงอัจฉริยภาพทางด้านความเป็นกวีน้อยมาก กวีนิพนธ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้มีเพียงตอนสั้นๆ ซึ่งชูหยวนเอื้อนเอ่ยกับชาวเรือในขณะที่โดยสารเรือข้ามฟากในบั้นปลายของชีวิตว่า
ฟ้าไม่เหลียวไม่แลแม้ตัวเรา
ชาวประชาอับเฉาหัวระแหง
เลือคน้ำตาคละเคล้าดูรุนแรง
เศร้าสลดแห้งแล้งในหัวใจ
จากบ้านเกิดเร่ร่อนไปต่างเมือง
ล่องแม่น้ำตามเรื่องเหมือนเศษไม้
โศกสลดเกาะกินเลาะร้าวใจ
อีกเมื่อใดจะได้คืนผืนแผ่นดิน
ขุนเขาดุจเสาที่ขวางหน้า
ตีนเขามีธาราไหลเย็น
ยอดเขามีหิมะคละเย็นเย็น
เมฆดำเป็นฟ้าฝนกระหน่ำมา
ชีวิตข้าไร้สุขรับทุกข์ยาก
โดดเดี่ยวตากฟ้าฝนทนทุกข์ไหว
จะให้ฝืนใจตนตามใจใคร
ยินดีไปยากไร้ที่พักพิง
ชูหยวนเป็นกวีผู้มีความรักชาติรักประชาชนเป็นที่ยิ่ง มีอุดมคติที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดขึ้นในกับชาติบ้านเมือง ซึ่งในภาพยนตร์ได้เน้นในประเด็นนี้ไว้อย่างเด่นชัด และเพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับความเป็นกวีของชูหยวน ผู้เขียนใคร่ที่จะหยิบยกเอาผลงานของท่านที่มีผู้แปลเป็นพากย์ไทยไว้แล้วมาให้เห็นพอเป็นตัวอย่างสักตอนหนึ่ง จากกวีนิพนธ์ชิ้นเอกหลี่เซ่าซึ่งแปลเป็นพากย์ไทยโดยอาจารย์ยง อิงคเวทย์ ดังนี้
เพื่อให้เห็นแนวทางดำเนินวิถีชีวิต ชูหยวนพิจารณาเปรียบเทียบกระบวนการบริหารของกษัตริย์โบราณซึ่งมีผลงานต่างกัน ตำหนิขุนนางที่เข้าพวกปิดบังพระราชา ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะคับขันและรู้สึกน้อยใจที่พระราชาหลงเชื่อคำยุยงใส่ไคล้ แต่เขาก็ยังจงรักภักดีต่อพระองค์
สามผ่านเผ้าเบาราณท่านบริสุทธิ์เอย
จึงเป็นจุดชุมนุมเหล่าบุปผา
รวมเซินเจียว  จุ้นกุ้ย สุคนธาเอย
ทั้งมาลา หุ้ยหวล ม้วนพะจี
เหยียว สุ้น สองภูมีที่เกริกไกรเอย
เพราะทรงใช้คติธรรมนำวิถี
ไย เจี๋ย โจ้ว หฤโหดโฉดเหลือดีเอย
มุ่งทางลัดลับถึงอับจน
คนในพรรคมักเหลิงระเริงสุขเอย
จึงเข็ญขุกทุกขะทรหน
หาใช่ข้ารักตัวกลัวผจญเอย
ไม่สู้ยลยานราชพินาศไป
เคยวิ่งเล่นลนลานกาลก่อนนั้นเอย
หมายให้ทันรอยบาทบุพราชได้
ฉมไม่ทราบเจตนาของข้าไทเอย
กลับเชื่อฟังใส่ไคล้ให้โกรธา
รู้อยู่ว่าซื่อนักมักมีภัยเอย
จะปล่อยปละผละไปก็ไม่กล้า
ขอเก้าฟ้าอารักษ์ประจักษ์ตาเอย
เพราะใจข้ากตัญญูภูบดี
แต่เดิมได้ให้คำพร่ำสัญญาเอย
ภายหลังมากลับกลายทำหน่ายหนี
จะให้ข้าลาจากหายากมีเอย
เศร้าฤดีที่ทรงธรรม์ผันเปลี่ยนไว

เนื่องจากกวีนิพนธ์ของชูหยวนมีอายุสองพันกว่าปีมาแล้ว  ภาษาที่ใช้จึงยากที่คนปัจจุบันจะเข้าใจได้  ประกอบกับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยที่มุ่งคงอรรถรสของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ให้คงอยู่ให้มากที่สุด  ผู้แปลจึงได้อรรถาธิบายความเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเอาไว้ด้วย  เฉพาะส่วนที่คัดลอกมาประกอบนี้  ผู้เขียนขอสรุปคำอรรถาธิบาย “คำ” และ “ความ” ที่ยากต่อการเข้าใจของท่านผู้แปลประกอบด้วย ดังนี้
1.สามผ่านเผ้าเบาราณ หมายถึงสามกษัตริย์ที่เป็นปฐมกษัตริย์ของ 3 ราชวงศ์ในยุคโบราณผู้ทรงคุณธรรม ประกอบด้วย เซี่ยหยู แห่งราชวงศ์เซี่ย  ซางทาง แห่งราชวงศ์ซาง และโจวเหวินหวาง แห่งราชวงศ์โจว
2.เหล่าบุปผา  หมายถึงบัณฑิตทั้งหลาย
3.เซินเจียว หมายถึงเจียวที่เกิดในแคว้นเซิน เจียวเป็นไม้หอม ตรงกับต้นกำจัดของไทย
4.จุ้นกุ้ย เป็นชื่อของอบเชยชนิดหนึ่ง
5.หุ้ย เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม
6.พะจี เป็นคำทับศัพท์คำว่า พี่จื่อ ซึ่งเป็นชื่อของพืชหอมชนิดหนึ่ง ดอกขาว รากใช้ทำยา เรียกว่าไป๋จื่อ  สำเนียงแต้จิ๋วว่า แปะจี๊
7.เหยียว สุ้น หมายถึงมหาราชโบราณสองพระองค์คือ ตี้เหยียว (เงี้ยวเต้) และตี้สุ้น (อี๋ซุ่น) ตี้สุ่นโอนราชบัลลังก์ให้เซี่ยหยูต้นราชวงศ์เซี่ย  เมื่อเซี่ยหยูชราจึงเลือกหยี่หรืออี้เป็นกษัตริย์ต่อ  แต่ลูกชายของเซี่ยหยูไม่พอใจ  เมื่อเซี่ยหยูสวรรคตจึงฆ่าอี้เสียแล้วตนขึ้นครองราชย์ต่อ  เปลี่ยนวิธีการสืบราชบัลลังก์เป็นการสืบด้วยสายเลือด
8.เจี๋ย และ โจ้ว หมายถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซางตามลำดับ  ทั้งสองพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน (ดูรายละเอียดในตอนที่ 2 ของบทนี้ประกอบ)
9.คนในพรรค หมายถึงขุนนางที่รวมตัวกันเป็นพวก มีจื่อหลานโอรสองค์เล็กของฉู่ไหวหวาง  ซ่างกวานต้าฟูผู้จะแย่งกฎหมายของชูหยวน จิ้นซ่างผู้รับอามิสสินจ้างจากแคว้นฉิน เป็นต้น
10.ฉม พากย์จีนว่า ฉวน หมายถึงพืชหอมชนิดหนึ่ง แต่ในที่นี้หมายถึงฉู่ไหวหวาง ที่ใช้คำนี้ก็เพื่อแสดงความรักและความใกล้ชิด 
11.เก้าฟ้า  หมายถึงฟ้าทั้งแปดทิศและฟ้าส่วนกลาง
หลี่เซ่าเป็นบทกวีซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 93 บท ทียกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นเพียง 6 บท มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยจบเรื่องแล้วโดยอาจารย์ยง อิงคเวทย์ ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้จากหนังสือชื่อ “วิวัฒนาการกวีนิพนธ์จีน”  ซึ่งนอกจากว่าท่านผู้แปลจะสามารถแปลออกเป็นพากย์ไทยได้อย่างไพเราะโดยคงอรรถรสต้นฉบับเดิมอย่างสมบูรณ์แล้ว  ก็ยังมีคำอรรถาธิบายอย่างละเอียดละออ ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 4


3
ยุครณรัฐ-ยุคแห่งสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่
ซุนปินกับตำราพิชัยสงครามซุนหวู่-คัมภีร์มรณะ


ในตอนปลายยุคชุนชิว  แคว้นจิ้นแยกออกเป็นสามแคว้น คือ เว่ย เจ้าและหาน ในขณะที่แคว้นหวู่และแคว้นเยว่ตกอยู่ภายอำนาจของแคว้นฉู่  เป็นผลให้แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น 7 แคว้นใหญ่ คือ เว่ย เจ้า หาน ฉิน ฉี ฉู่ และเอี้ย แต่ละแคว้นต่างก็พยายามที่จะขยายอำนาจของตนให้กว้างขวางออกและทำลายอิทธิพลของแคว้นอื่นๆ เพื่อผลคือความเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินจงหยวน* ทั้งหมด  สงครามที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่าสามร้อยปีในยุคจ้านกว๋อนี้จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในยุคชุนชิว  แต่ละแคว้นต่างก็พยายามคิดค้นหากลยุทธ์ในการสงครามมากวิธีขึ้น  เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายที่เป็นผู้ชนะในการสัประยุทธ์ในยุคนี้ก็คือฝ่ายที่สามารถเฟ้นหานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญการพิชัยสงครามเหนือฝ่ายตรงกันข้ามมาเป็นพวก  ดังนั้นยุคนี้นั้นนอกจากจะเป็น“ยุครณรัฐ” แล้ว จึงยังเป็นยุคทองแห่งปรัชญาอีกด้วย
การณ์ที่เป็นเชนนี้ อาจกล่าวได้ว่านี่คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รูปแบบการผลิตได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบศักดินา  ซึ่งให้เอกชนเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมากขึ้น กับกลไกทางการเมืองและการแย่งชิงอำนาจเป็นใหญ่ระหว่างชนชั้นศักดินาของแต่ละแคว้น ที่พยายามพัฒนารูปแบบของการแย่งชิงอำนาจให้มีประสิทธิภาพในการเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามโดยเด็ดขาดให้ได้
สงครามในยุคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ  คือ
1.ระยะเวลาที่แคว้นเว่ยเป็นใหญ่กว่าแคว้นอื่น ๆ
2.ระยะของการแย่งชิงอำนาจระหว่างแคว้นฉีกับแคว้นฉิน
3.ระยะของการแย่งชิงอำนาจระหว่างแคว้นเจ้ากับแคว้นฉิน
4.ยุคแห่งการสถาปนาจักรวรรดิฉิน
ในระยะแรกๆ ของยุคจ้านกว๋อนั้น  แคว้นเว่ยมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าแคว้นอื่นๆ ในขณะเดียวกันแคว้นฉินซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกยังคงเป็นม้านอกสายตาที่ไม่มีแคว้นใดคิคจะรุกรานเข้าไปครอบครองหรือให้ความสำคัญ ด้วยพากันเหยียดหยามว่าล้าหลังและเป็นดินแดนที่ทุรกันดาร ความยิ่งใหญ่ของแคว้นเว่ยในช่วงแรกๆ ของยุคจ้านกว๋อล้วนเกิดจากการปฏิรูปกฎหมายและการปกครองของหลี่คุ่ย  ในรัชสมัยของเว่ยเหวินโหวแคว้นเว่ยมีความพยายามที่จะรวมแคว้นเจ้าและหานเข้าด้วยกันเพื่อสถาปนาแคว้นจิ้นขึ้นมาใหม่แต่ไม่สำเร็จ  การแตกคอของแคว้นทั้งสามนี้ในราวปี พ.ศ.174 ยังผลให้แคว้นฉีที่มีฉีหวนกงเป็นเจ้าสามารถสลัดหลุดจากแอกแห่งอำนาจของแคว้นเว่ยได้สำเร็จ  และสามารถที่จะพัฒนาแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ  จนสามารถที่จะสั่นคลอนฐานะและอำนาจของแคว้นเว่ยได้  ในการศึกที่ช่องแคบดอยหม่าหลิงระหว่างเว่ยกับฉีนั้น  แคว้นฉีสามารถที่จะเอาชนะได้โดยฝีมือของเสนาธิการคนสำคัญนาม “ซุนปิน” ผู้เป็นทายาทของซุนหวู่  ซุนปินสามารถสร้างความพ่ายแพ้และความเจ็บปวดอย่างยับเยินให้กับแคว้นเว่ยที่นำโดยแม่ทัพ“ผังเจียน” คู่ปรับคนสำคัญของเขาในปี พ.ศ.201 หลังจากนั้นแคว้นฉีก็มีอำนาจแทนแคว้นเว่ย ฉีเวยหวางได้ดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งหวางสืบแทนเว่ยหุ้ยหวาง

การยุทธ์ระหว่างแคว้นเว่ยกับแคว้นฉีในยุคนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ชุด “คัมภีร์มรณะ” ตัวเอกของภาพยนตร์ชุดนี้คือซุนปินกับผังเจวียน  ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้น ทั้งสองคนนี้เป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการยุทธ์ระหว่างทั้งสองแคว้น  โดยที่ซุนปินเป็นเสนาธิการของแคว้นฉี  ในขณะที่ผังเจวียนเป็นแม่ทัพคนสำคัญของแคว้นเว่ย
ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์มีบันทึกถึงซุนปินไว้ค่อนข้างชัดว่า ซุนปินถือกําเนิดขึ้นมาดูโลกหลังจากที่ซุนหวู่ถึงแก่กรรมแล้วประมาณร้อยกว่าปี แต่ก็มิอาจยืนยันได้ว่าซุนหวู่ถึงแก่กรรมเมื่อใด ทราบเพียงว่าซุนหวู่เคยได้รับตำแหน่งแม่ทัพของแคว้นหวู่ ในระหว่างปี พ.ศ.31-61  ซึ่งตรงกับรัชสมัยของหวู่หวางเหอลู และหวู่หวางฟูไซ(ดังปรากฏในเรื่องไซซี) และเมื่อประมาณปี พ.ศ.61 ซุนหวู่มิอาจที่จะทนต่อความเหลวแหลกของราชสำนักหวู่ได้ จึงลาออกจากราชการไปแสวงหาความวิเวกตามปาเขาลำเนาไพร  เร้นหลบกายมิให้ใครพบเห็นอีก จากหลักฐานนี้จึงเชื่อได้ว่าซุนปินนั้นคงจะไม่ถือกำเนิดก่อนปี พ.ศ. 161 แน่นอน
ตามประวัติกล่าวว่า ซุนปินเป็นนักการทหารผู้มีอัจฉริยะเลิศล้ำผู้หนึ่งของจีน  ถือกำเนิดในดินแดนที่อยู่ระหว่างเมืองอาเฉินกับเมืองจ่วนเฉินในเขตมณฑลชานตุงปัจจุบัน เมื่อเยาว์วัยเคยได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์หวางสี่พร้อมกับผังเจวียน  อาจารย์หวางสี่ที่ว่านี้ก็คือ “กุ่ยกู่จื่อ” ซึ่งมีที่พำนักพักพิงอยู่อย่างสันโดษในหุบเขาปีศาจหรือหุบผามรณะ ณ เมืองหยาง ดังนั้นผู้คนจึงเรียกกุ่ยกู่จื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “อาจารย์หุบเขาปีศาจ”
ถึงแม้ผังเจวียนจะได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการทหารและพิชัยสงครามจากสำนักเดียวกันกับซุนปิน แต่ด้วยเหตุที่เขามีสติปัญญาด้อยกว่า จึงมิอาจที่จะเข้าใจตำราพิชัยสงครามได้อย่างถ่องแท้เหมือนกับซุนปิน  อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับความรักจากอาจารย์น้อยกว่าซุนปิน ผู้ซึ่งอาจารย์ถือว่าเป็นทายาทของซุนหวู่ ซึ่งในภาพยนตร์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า  กุ่ยกู่จื่อไม่ยอมสอนวิชาความรู้ให้ผังเจวียนโดยตรง  แต่ให้ลูกศิษย์ของตนเป็นผู้ถ่ายทอดให้อีกทอดหนึ่ง ในขณะที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้กับซุนปินด้วยตนเอง  ดังนั้นความเชี่ยวชาญในเชิงยุทธ์ของผังเจวียนจึงมิอาจที่จะสู้ซุนปินได้้
หลังจากที่ได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามในระดับหนึ่งแล้ว  ผังเจวียนก็เดินทางออกจากหุบผามรณะไปยังแคว้นเว่ย ซึ่งขณะนั้นเป็นรัชสมัยของเว่ยหุ้ยหวาง ได้เข้ารับราชการอยู่ในแคว้นเว่ยจนได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของเว่ยหุ้ยหวางเป็นอย่างมาก
ต่อมาฉินหัวหลีศิษย์ของม่อจื้อ ได้เดินทางไปถึงหุบผามรณะได้พบกับซุนปิน  จึงสอบถามเหตุผลที่ซุนปินไม่ลงเขาไปรับราชการ  ซุนปินจึงบอกถึงข้อตกลงระหว่างตนกับผังเจวียนว่า หากผังเจวียนประสบความสำเร็จในการรับราชการที่แคว้นเว่ยแล้ว ก็จะชักนำตนเข้าสู่วงราชการด้วย  ฉินหัวหลีจึงออกเดินทางไปยังแคว้นเว่ยและแจ้งเรื่องเกี่ยวกับซุนปินให้เว่ยหุ้ยหวางทราบ เว่ยหุ้ยหวางจึงให้ขุนนางถือหนังสือของผังเจวียนไปถึงซุนปินทันที  ซุนปินจึงออกเดินทางจากหุบเขาปีศาจไปยังแคว้นเว่ย
เกี่ยวกับการเดินทางไปรับราชการที่แคว้นเว่ยนี้   บ้างก็กล่าวว่าผังเจวียนเป็นผู้เสนอให้เว่ยหุ้ยหวางส่งคนไปเชิญตัวมาเอง  ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำตัวซุนปินมาควบคุมไว้ที่แคว้นเว่ย  มิให้ไปใช้ความรู้ความสามารถในแคว้นอื่น โดยเฉพาะก็คือแคว้นฉีซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญในขณะนั้น  ทั้งนี้เพราะแคว้นฉีคือบ้านเกิดของซุนปินเมื่อซุนปินเดินทางไปถึงแคว้นเว่ย  เขาได้แสดงให้เว่ยหุ้ยหวางเห็นถืงความรู้ความสามารถในด้านพิชัยสงครามอย่างมีเหตุมีผล เว่ยหุ้ยหวางพิจารณาเห็นถึงความสามารถ ก็คิดจะแต่งตั้งให้ซุนปินเป็นรองแม่ทัพบัญชาการทหารร่วมกับผังเจวียน แต่ผังเจวียนกลัวว่าซุนปินจะเป็นที่โปรดปรานเกินหน้าตน จึงอ้างเหตุว่าซุนปินนั้นเป็นศิษย์ผู้พี่จึงไม่สมควรที่จะรับตำแหน่งที่เป็นรองจากตน  พร้อมกันนั้นเขาก็ได้เสนอให้แต่งตั้งซุนปินเป็นขุนนางรับเชิญ ซึ่งไม่มีอำนาจทางการทหารแทน ซึ่งเว่ยหุ้ยหวางก็เห็นด้วย
ด้วยความหวาดระแวงว่า หากมีวันใดวันหนึ่งที่ซุนปินได้มีโอกาสได้แสดงความสามารถแล้วซุนปินก็จะกลายเป็นที่โปรดปรานของเว่ยหุ้ยหวางแทนตนไปทันที และอาจส่งผลให้ตนต้องหลุดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไป  ดังนั้นผังเจวียนจึงคิดหาวิธีการกำจัดซุนปินอยู่ตลอดเวลา  โดยพยายามที่จะใส่ความกล่าวหาซุนปินต่อเว่ยหุ้ยหวางอยู่เสมอว่าซุนปินนั้นเป็นชาวแคว้นฉี  จะอย่างไรก็คงมิอาจที่จะจงรักภักดีต่อแคว้นเว่ยอย่างจริงใจได้เลย จนในที่สุดเว่ยหุ้ยหวางหลงเชื่อและมีความหวาดระแวงในตัวของซุนปินมากขึ้นตามลำดับ  
เมื่อผังเจวียนเห็นเป็นไปตามแผน เขาจึงปลอมจดหมายขึ้นฉบับหนึ่งให้เป็นจดหมายที่ซุนปินเขียนถึงเจ้าผู้ครองแคว้นฉีแล้วนำไปแสดงต่อเว่ยหุ้ยหวาง ใส่ความว่าซุนปินลอบติดต่อกับแคว้นฉีจนเว่ยหุ้ยหวางหลงเชื่อ และจึงสั่งให้จับตัวซุนปินขังคุกไว้  ด้วยความอยากที่จะได้ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่จากซุนปิน ดังนั้น-ทางหนึ่งผังเจวียนก็แกล้งแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจจะช่วยเหลือมิให้ซุนปินต้องโทษประหารชีวิต  ทางหนึ่งก็ใช้อำนาจสั่งคว้านสะบ้าหัวเข่าทั้งสองข้างของซุนปิน พร้อมกับสักหน้าด้วยข้อความว่า “คบคิดต่างชาติ” เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ซุนปินหลบหนี  และเป็นการประจานมิให้สามารถพบหน้าค่าตาใครต่อใครอีกต่อไป
ผังเจวียนแสร้งปฏิบัติต่อซุนปินเป็นอย่างดี  จนซุนปินหลงเชื่อว่ามีความจริงใจต่อตนจึงยอมรับปากเขียนตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ให้เพื่อทดแทนบุญคุณ  แต่ด้วยคุณธรรมของคนใช้ชราที่รู้เรื่องดี คนใช้ชราผู้นั้นจึงบอกให้ซุนปินได้ทราบว่าหากเขาเขียนตำราพิชัยสงครามเสร็จลงวันใด  นั่นก็หมายความว่าวันตายจะมาถึง ซุนปินจึงแกล้งบ้าทุบข้าวของจนพังพินาศเผาตำราพิชัยสงครามที่เขียนจนเกือบเสร็จแล้วเสียสิ้น  ผังเจวียนจึงให้คนนำไปขังรวมไว้กับหมูและผ่อนคลายการควบคุมลง
ต่อมาฉินหัวหลีได้ร่วมคณะทูตแคว้นฉีเดินทางมายังแคว้นเว่ย ทราบข่าวว่าซุนปินถูกลงอาญาจึงไปเยี่ยมเยียนและลอบลักพาตัวหนีออกจากแคว้นเว่ยได้สำเร็จแล้วนำตัวไปยังแคว้นฉี  ซุนปินได้แสดงความรู้ความสามารถของตนจนเป็นที่ไว้เนี้อเชื่อใจของฉีเวยหวาง  และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหาร

ในปี พ.ศ.189 ผังเจวียนยกทัพแคว้นเว่ยจำนวนแปดหมื่นคนไปตีแคว้นเจ้า แคว้นเจ้าส่งหนังสือขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉี ฉีเวยหวางจึงแต่งตั้งเถียนจี้เป็นแม่ทัพแลให้ซุนปินเป็นเสนาธิการทหาร ยกกองทัพไปช่วยเหลือแคว้นเจ้า  ซุนปินได้ใช้ยุทธการ “ล้อมเว่ยช่วยเจ้า” จนผังเจวียนต้องล่าถอยจากแคว้นเจ้าที่กำลังจะยึดได้สำเร็จอยู่แล้วเพื่อกลับมาป้องกันแคว้นเว่ย นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของแคว้นฉีที่มีต่อแคว้นเว่ย  และเป็นชัยชนะครั้งแรกของซุนปินต่อผังเจวียน  เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคี่ยวในเชิงยุทธ์ของคนทั้งสองที่เติบโตและศึกษาเรียนรู้วิชาการศึกมาจากสำนักเดียวกัน
สงครามขับเคี่ยวระหว่างฉีกับเว่ยหรือการต่อสู้กับในเชิงยุทธวธีระหว่างซุนปินกับผังเจวียนได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปีที่ 10 ก็ถึงจุดจบของการต่อสู้ระหว่างคนทั้งสอง  เมื่อผังเจวียนได้ยกกองทัพเว่ยไปตีแคว้นหาน แคว้นหานซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ ไม่อาจต้านกำลังอันยิ่งใหญ่ของแคว้นเว่ยได้ จึงขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉี  ซุนปินก็ได้ใช้กลยุทธ์เดิมจนผังเจวียนต้องยก  ทัพกลับจากแคว้นหาน เมื่อกองทัพแคว้นเว่ยเดินทางกลับ ซุนปินก็วางแผนให้กองทัพแคว้นฉีแสร้งถอยร่นแลวางกลลวงเอาไว้ ผังเจวียนชะล่าใจจึงได้ออกคำสั่งทหารให้ยกกำลังไล่โจมตี ซุนปินให้ทหารลดจำนวนซากเตาไฟให้น้อยลงเรื่อยๆ เพื่อลวงให้ผังเจวียนคิดว่าทหารแคว้นฉีหนีทัพกันมากและชะล่าใจตามไล่ล่าอย่างประมาท ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี  เพราะผังเจวียนสั่งทหารให้ยกทัพตามโดยไม่หยุดยั้งและเต็มไปด้วยความประมาท  จนกระทั่งถึงช่องแคบดอยหม่าหลิงในตอนค่ำวันหนึ่ง  ทหารกองหน้าของผังเจวียนเห็นต้นไม้ล้มขวางหน้าอยู่และที่ต้นไม้นั้นมีตัวอักษรสลักอยู่จึงรายงานต่อผังเจวียน
ขณะที่ผังเจวียนอ่านตัวอักษรบนต้นไม้นั้นซึ่งเขียนไว้ว่า “ผังเจวียนตายอยู่ใต้ต้นไม้นี้” ยังมิทันที่จะระวังตัวก็ปรากฏห่าเกาทัณฑ์ของทหารแคว้นฉีแหวกอากาศมาอย่างรวคเร็วประดุจห่าฝน  เหล่าทหารเว่ยแตกตื่นโกลาหลถูกเกาทัณฑ์บาดเจ็บล้มตายไม่น้อย  ผังเจวียนเองก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกันเมื่อเห็นว่าหมดหนทางรอดแล้ว จึงชักกระบี่ออกเชือดคอตาย  ก่อนตายก็ได้กล่าวอย่างคับแค้นว่า“แค้นใจที่เราไม่ฆ่าซุนปินเสียแต่แรก วันนี้กลับเป็นผู้เสริมส่งชื่อเสียงของมันให้โด่งดังไปเสียอีก” ซึ่งในเวลาต่อมาคำกล่าวของผังเจวียนก็กลายเป็นความจริงและเป็นความจริงอยู่แม้กระทั่งปัจจุบัน
ยุทธการครั้งสำคัญในการปราบกองทัพเว่ยของซุนปินในครั้งนี้ เรียกว่า “ยุทธการช่องแคบหม่าหลิง” ซึ่งเป็นผลงานที่ส่งชื่อเสียงของซุนปินให้ขจรขจายไกลไปอย่างรวดเร็ว และเป็นยุทธการครั้งสำคัญที่ทำให้แคว้นฉีมีอำนาจเหนือแคว้นเว่ย ส่วนซุนปินนั้นหลังจากยุทธการครั้งนี้แล้วก็ลาออกจากราชการหลีกเร้นกายใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในบ้านป่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


        *คำว่า “จงหยวน” หรือ “ตงง้วน” แปลว่าดินแดนตอนกลางหรือดินแดนอันเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและความเจริญ  จักรพรรดิจีนแต่ละยุคจะกำหนดเอาภูเขาใหญ่เป็นเขตแดน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ การกำหนดครั้งสุดท้ายทำในสมัยราชวงศ์ฮั่น  โดยกำหนดเอาภูเขาใหญ่ทั้งห้าเป็นเครื่องบอกเขตแดนจงหยวน  ดังนี้
1.ภูเขาซงซัว(ชงชาน) เป็นภูเขาใหญ่อันเป็นศูนย์กลางเป็นที่ตั้งของสำนักเสี้ยวลิ้มยี่
2.ภูเขาเฮ้งซัว(เหิงชาน) เป็นเขตแดนเหนืออยู่ในเขตมณฑลฮ้อปัก(เหอเป่ย) และ  มณฑลชัวไช(ซานซี)
3.เฮว้งชัว(เหิงชาน) เป็นเขตแดนใต้ อยู่ในมณฑลโอ้วหนำ (หูหนันหรือเหอหนาน)
4.ภูเขาไท้ซัว(ไท่ชาน)เป็นเขตแดนด้านตะวันออก อยู่ในเขตมณฑลซัวตัว(ชานตง)เป็นภูเขาที่ใหญ่ที่สุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งขุนเขาทั้งปวง  เป็นสถานที่ประกอบพิธี   เช่นสรวงเทพยดาฟ้าดินของจักรพรรดิจีนมาแต่โบราณกาล
5..ภูเขาฮั้วซัว(หัวชาน)  อยู่ในมณฑลเซียมไซ(ซานซี)

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 3


2
ย้อนรอยบรรพบุรุษชาวจีนจากสมัยหินถึงยุคชุนชิว
ไซซีและนางพญาหน้าด่าง



ตามตำนานความเชื่อและเทพนิยายของจีน อาจถือว่าผันกู่คือผู้เปิดแผ่นฟ้าสร้างแผ่นดิน  หนู่วาและพี่ชายคือผู้ให้กำเนิดมนุษยโลกดังกล่าวแล้ว  แต่ตามหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งได้มีการขุดค้นหาหลักฐานบรรพบุรุษของชาวจีนหลายครั้งในหลายพื้นที่  พบว่าในบริเวณผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีธารน้ำหวงเหอและฉางเจียงเป็นประหนึ่งสายโลหิตนี้ ได้มีมนุษย์อาศัยอยู่แล้วตั้งแต่ประมาณ 1,700,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย  หลักฐานที่สำคัญ คือ การขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์หยวนโหม่ว ที่อำเภอหยวนโหม่ว มณฑลยูนนาน  เมื่อปี พ.ศ.2508  ถัดจากนั้นมาก็เป็นโครงกระดูกมนุษย์หลันเถียน พบที่อำเภอหลันเถียน มณฑลส่านซี ชึ่งมีอายุประมาณ 500,000–600,000 ปีมาแล้ว
พัฒนาการสืบเนื่องมาจนเมื่อประมาณ 400,000–500,000 ปีมาแล้วก็เป็นยุคของมนุษย์ปักกิ่ง ต่อจากนั้นมาก็เป็นมนุษย์ติงชุนและมนุษย์ซานติ่ง  ซึ่งมีอายุประมาณ 100,000 และ 18,000 ปีมาแล้วตามลำดับ
นับวันเวลาจากยุคของมนุษย์หยวนโหม่วถึงมนุษย์ซานติ่งนี้ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีของจีนได้จัดให้อยู่ในยุค “ยุคหินเก่า”
ถึงยุคหินใหม่ ปรากฏหลักฐานซึ่งแสดงใหัเห็นถึงวัฒนธรรมของมนุษย์ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำหวงเหอและฉางเจียงเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ วัฒนธรรมหยางเซ่า(ประมาณ 7,000-5,000 ปีมาแล้ว) วัฒนธรรมเหวินโข่ว(5,000 ปีมาแล้ว) และวัฒนธรรมหลงซาน(4,000 ปีมาแล้ว) ในยุคหินใหม่นี้ยังไม่มีตัวอักษรสำหรับบันทึกเรื่องราว  เรื่องราวที่เกี่ยวกับมนุษย์ในยุคนี้จึงมีแต่เรื่องเล่าที่สืบทอดกันต่อมาจนกลายเป็นตำนานและนิยายปรัมปราในยุคต่อมา และในยุควัฒนธรรมหลงซานนี่เองที่มีหลักฐานบางอย่างชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมบุพกาล ซึ่งคลี่คลายไปสู่สังคมทาสแล้ว ในที่สุดระหว่างตำนานและนิยายปรัมปรากับหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็มาบรรจบกัน ตั้งแต่เมื่อเมื่อสังคมทาสได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างชัดเจน และมีการสถาปนาราชวงศ์เชี่ยอันเป็นราชวงศ์แรกที่มีหลักฐานปรากฏชัด
รัฐทาสราชวงศ์เซี่ยมีอายุได้ประมาณสี่ร้อยคือ ตั้งแต่ประมาณ 1663-1223 ปีก่อนพุทธศักราช มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 17 องค์  ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นที่รุนแรงและยาวนาน ในที่สุดวาระสุดท้ายของราชวงศ์ก็มาถึงเมื่อกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ “เจี๋ย”  ซึ่งเป็นยุคที่มีการกดขี่ขูดรีดประชาชนอย่างหนักหน่วง  จนทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างกว้างขวาง  เป็นผลให้ “ซางทาง” หัวหนัาชนเผ่าซางฉวยโอกาสยึดอำนาจจากกษัตริย์เจี๋ยได้สำเร็จแล้วสถาปนาราชวงศ์ซางขึ้นมาแทน
ราชวงศ์ซางมีอำนาจอยู่ได้ประมาณหกร้อยปี คือตั้งแต่ 1223-579 ปีก่อนพุทธศักราช มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 31 พระองค์ กษัตริย์ราชวงศ์ซางองค์แรกๆ ยังคงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนและตั้งพระทัยมั่นในอันที่จะทะนุบำรุงความสงบสุขให้กับเหล่าอาณาประชาราษฎร แต่เมื่อมีการสืบต่อสันตติวงศ์มาเรื่อยๆ การกดขี่ข่มเหงประชาชนก็เกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปลายสมัยราชวงศ์เซี่ย ในที่สุดเมื่อถึงรัชสมัยของกษัตริย์ทรราชโจ้วหวาง ซึ่งได้สรัางความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างรุนแรงหนักหน่วง ทำให้“โจวอู่หวาง”เจ้าแห่งแคว้นโจวสามารถ นำกองทัพแคว้นโจวเข้ายึดอำนาจจากโจ้วหวางได้สำเร็จ  สถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นปกครองแผ่นดินแทนราชวงศ์ซางเมื่อประมาณ 579 ปีก่อนพุทธศักราช
         ราชวงศ์โจวยุคแรกหรือ“โจวตะวันตก”(579-227 ปีก่อนพุทธกาล) มีฐานะมั่นคงอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงราวประมาณปีที่ 234 ก่อนพุทธศักราช  ชนกลุ่มน้อยเผ่าซีหยงได้ยกกองทัพเข้าตีนครเฮ่าจิงฆ่าโจวอิงหวางตายขึ้นครองอำนาจแทน  แต่ในอีก 7 ปีต่อมา กองทัพผสมของเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ได้ร่วมมือกันยกทัพมาขับไล่พวกเผ่าซีหยงออกจากเมืองเฮ่าจิง แล้วสถาปนายี่จิ้วองค์รัชทายาทราชวงศ์โจวขึ้นเป็นกษัตริย์มีนามว่า “โจวผิงหวาง”  จากนั้นโจวผิงหวางก็ได้ยัายเมืองหลวงจากภาคตะวันตกไปตั้งอยู่ที่เมืองโล่ หยางทางภาคตะวันออก ราชวงศ์โจวในยุคนี้จึงเรียกว่า “ราชวงศ์โจวตะวันออก”
นับแต่นั้นมาราชวงศ์โจวก็อ่อนแอลงตามลำดับ  อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงในยุคนี้จึงตกไปอยู่กับเจ้าผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ซึ่งมีหลักฐานว่าในช่วงแรกๆ นั้นมีมากกว่า 170 แคว้น  แต่ที่ราชวงศ์โจวไม่ล่มสลายลงในระยะนี้ ล้วนสืบเนื่องจากการที่เจ้าผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ยังต้องการที่จะใช้เป็นกษัตริย์ราชวงศ์โจวเป็นหุ่นเชิด  เพื่อเป็นข้ออ้างให้การกระทำการขยายอำนาจของตนเพื่อครอบครองแคว้นอื่นๆ ดูราวกับว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมในสายตาของคนทั่วไป  ด้วยอ้างเป็นการกระทำในนามของราชวงศ์โจวเพื่อกำราบผู้กระด้างกระเดื่องเท่านั้นเอง
สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ยุค  คือ ยุคชุนชิวหรือยุคฤดูใบไม้ผลิใบไม้ร่วง (227 ก่อนพุทธกาลถึง พ.ศ.67) และยุคจ้านกว๋อหรือยุครณรัฐ (พ.ศ.67-322)  สมัยราชวงศ์โจวตะวันออกนี้เป็นสมัยที่บรรดาแคว้นต่างๆ ได้ก่อสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา  อีกทั้งยังถือว่าเป็นยุคทองของปรัชญาและศิลปวัฒนธรรมจีนอีกด้วย
ในต้นยุคชุนชิว  รูปแบบการผลิตในระบบทาสที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลายาวนานก็เริ่มส่อเค้าของความคลอนแคลนให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งนี้ล้วนสืบเนื่องมาจากการที่เจ้าผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ต่างก็ต้องการที่จะมีอำนาจเหนือแคว้นอื่นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลผลิตด้านต่างๆ ให้พอเพียงสำหรับการใช้จ่ายในการทำสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน  การขยายตัวของระบบการผลิตเช่นนี้จึงเป็นผลให้รูปแบบของการขูดรีดคลี่คลายไปสู่ระบบศักดินา  และเข้าสู่ระบบศักดินาโดยสมบูรณ์แบบอย่างชัดแจ้งในยุคจ้านกว๋อ
ด้วยเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเช่นนี้ ยังผลให้บรรดาแคว้นต่างๆ ที่มีอยู่มากกว่า 170 แคว้นในยุคต้นๆ ของยุคชุนชิว  ได้รวมตัวกันโดยการยึดครองของแคว้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังพลที่เหนือกว่า  ทำให้เหลือแคว้นใหญ่ๆ อยู่เพียง 6 แคว้น คือ ฉี จิ้น ฉู่  หวู่ ฉิน และเยว่  ซึ่งบรรดาแคว้นใหญ่ๆ เหล่านี้ต่างก็ทำสงครามรบพุ่งกันอยู่ตลอดเวลา  จึงนำไปสู่การพัฒนารูปแบบของการทำสงครามอยู่เรื่อยๆ ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่อันถือเป็นตำราพิชัยสงครามชิ้นเอกของจีนจึงเกิดขึ้น  และได้พัฒนาไปสู่ตำราพิชัยสงครามฉบับต่างๆ ในยุคต่อมา
ว่ากันว่าสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ในยุคนี้จะมีสงครามย่อยๆ อยู่ตลอดปี  และในแต่ละปีจะมีสงครามใหญ่ประมาณสองครั้งในราวฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง  จึงทำให้เรียกชื่อยุคนี้เป็นยุคชุนชิวหรือยุคฤดูใบไม้ร่วงใบไม้ผลิ
เหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละปีนั้น สงครามระหว่างแคว้นหวู่กับแคว้นเยว่ระหว่างปี พ.ศ.47-70 นับเป็นสงครามที่มีผู้กล่าวถึงกันมาก  ทั้งนี้เพราะเป็นสงครามที่มีการบันทึกไว้อย่างละเอียด  ทั้งในรูปแบบของบันทึกประวัติศาสตร์และในรูปแบบของตำนานและนิยายพื้นบ้าน อีกทั้งยังมีผู้นำเอาเรื่องราวเหตุการณ์และบุคคลในสงครามครั้งนี้มาแต่งเป็นนิยายกำลังภายในและสร้างเป็นภาพยนตร์กำลังภายในหลายต่อหลายครั้ง  นี่อาจเป็นเพราะเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ เหตุการณ์ในช่วงนี้ในหน้าประวัติศาสตร์จีนได้เกิดมีหญิงงามผู้หนึ่งที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง หญิงงามนางนั้นคือ “ไซซี” ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหญิงงามอันดับหนึ่งในพงศาวดาร
ไซซีได้ชื่อว่าเป็นหญิงงามในประวัติศาสตร์จีนที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างไม่เสื่อมคลายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่านอกจากความงดงามที่ยากจะหาหญิงใดมาเปรียบแล้ว  นางยังเป็นหญิงที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความอยู่รอดของชาติบ้านเมืองเหนือกว่าผู้ชายอีกเป็นจำนวนมาก เรื่องราวของนางจึงถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำของชาวจีนมากว่าสองพันปี
          ภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด “ไซซี” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ตัวละครสำคัญของเรื่องนับแต่ไชซีซึ่งเป็นตัวละครเอก เยว่อ๋องโกวเจี้ยน เจ้าผู้ครองแคว้นเยว่ (หรือเวียด) หวู่หวางฟูไซ-เจ้าผู้ครองแคว้นหวู่ ฟ่านหลีและเหวินจ้ง ขุนนางคนสำคัญของแคว้นเยว่ผู้เป็นเจ้าของแผนการ “กลสาวงาม” ขุนนางตงฉินหวู่จื่อซีแห่งแคว้นหวู่ ผู้จำต้องพลีชีพตนเองด้วยความสัตย์ซื่อ และป๋อผี่คนทรยศแห่งแคว้นหวู่ที่เห็นแก่อามิสสินจ้างมากกว่าความอยู่รอดของชาติบ้านเมืองตน เหล่านี้ล้วนถูกนำมาต่อเติมเสริมแต่งให้มีชีวิตชีวาดั่งว่าภาพความจริงแห่งประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้มาปรากฏอยู่เบื้องหน้าผู้ชมฉะนั้น
ที่จริงแล้วเรื่องราวของไซซีและยุทธการสาวงามของแคว้นเยว่ในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทยมานานแล้ว ทั้งในรูปของภาพยนตร์และข้อเขียนในเชิงสารคดีและนิยาย แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยได้รับรู้และเพื่อความสมบูรณ์ของเนี้อหา ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วยอย่างย่อๆ ดังนี้

ในประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกเหตุการณ์สงครามระหว่างแคว้นหวู่กับแคว้นเยว่ไว้ว่า  ในปี พ.ศ.47 แคว้นหวู่กับแคว้นเยว่ทำสงครามกันที่ตำบลจุ้ยหลี  หว่หวางเหอลูถึงแก่กรรมในระหว่างที่ถอยทัพกลับด้วยความพ่ายแพ้  ฟูไซผู้เป็นบุตรจึงได้ขึ้นเป็นหวาง(อ๋อง)แทนบิดา  ในอีกสองปีต่อมา หวู่หวางฟูไซจึงให้หวู่จื่อซีและป๋อผี่ยกกองทัพเรือเข้าโจมตีแคว้นเยว่ เยว่หวางโก้วเจี้ยนไม่อาจที่จะต่อต้านทัพแคว้นหวู่ได้ จึงต้องใช้แผนการยอมอัปยศเพื่อความอยู่รอดของฟ่านหลีและเหวินจ้งยอมตนเป็นเชลยเป็นคนเลี้ยงม้าของฟูไซ และพยายามที่จะแสดงตนให้เห็นว่ามีความสวามิภักดิ์ต่อฟูไซอย่างจริงใจ จนฟูไซเกิดความซาบซึ้งและไว้เนี้อเชื่อใจ  นอกจากนั้นแล้วด้วยการติดสินบนของเหวินจ้งต่อป๋อผี่ ทำให้แผนการแรกนี้เป็นไปได้ด้วยดี
            ดังนั้น เมื่อเห็นว่าโกวเจี้ยนมีความสวามิภักดิ์อย่างจริงใจ ฟูไซจึงได้ปล่อยตัวโกวเจี้ยนและภรรยากลับบ้านเมืองในปี พ.ศ.52 โดยไม่ยอมรับฟังคำทัดทานของหวู่จื่อซี  เมื่อโกวเจี้ยนกลับถึงแคว้นเยว่ ก็ตั้งปณิธานที่จะทำนุบำรุงแคว้นเยว่ให้มั่นคงเข้มแข็งเตรียมการต่อต้านแคว้นหวู่เพื่อล้างความอัปยศ  ทั้งได้ให้จัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์เสบียงอาหารให้พร้อมสำหรับการเปิดยุทธการครั้งใหม่ตามคำแนะนำของฟ่านหลีและเหวินจ้ง พร้อมกันนั้นก็วางแผนการทะลุทะลวงแคว้นหวู่มาจากภายใน โดยใช้กลสาวงาม โดยให้เฟ้นหาสาวงามส่งไปยังแคว้นหวู่เพื่อยั่วยวนให้ฟูไซหลงใหลในสุรานารี จนละเลยกิจการบ้านเมือง
แผนการทั้งสองนี้เป็นไปด้วยดี ทั้งนี้เพราะเมื่อหวู่หวางฟูไซทราบข่าวการเตรียมของแคว้นเยว่ ฟูไซเชื่อคำของป๋อผี่ที่เห็นว่าการที่แคว้นเยว่ทำนุบำรุงบ้านเมืองจนเข้มแข็ง  จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างพร้อมสรรพนั้น  เป็นการเตรียมตัวเพื่อป้องกันการรุกรานจากแคว้นอื่นมิใช่แคว้นหวู่  แผนที่สองนั้นเล่าก็สำเร็จด้วยดีโดยการที่ฟ่านหลีสามารถที่จะเฟ้นหาสาวงามสองนางคือไซซีและเจิ้งตั้นได้  จึงนำหญิงสาวทั้งสองไปฝึกหัดฟ้อนรำขับร้องและฝึกกิริยามารยาท  แล้วจึงนำทั้งสองไปถวายเป็นบรรณาการแก่ฟูไซ  โดยที่สาวงามทั้งสองนางนี้เต็มใจที่จะปฏิบัติการให้ลุล่วงไปตามแผนการทั้งหมดเพื่อชาติบ้านเมือง
ไซซีได้อาศัยความงดงามแห่งเรือนร่างแลกิริยามารยาทศิลปการขับร้องฟ้อนรำที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี  ยั่วยวนให้ฟูไซหลงใหลคลั่งไคล้จนไม่เป็นอันว่าราชการงานเมือง แม้หวู่จื่อซีจะพยายามเตือนสติมิให้ลุ่มหลงหญิงงามแต่ฟูไซหาได้รับฟังไม่ ดังนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมาแคว้นหวู่ก็ทรุดโทรมลงตามลำดับ มีศึกรอบด้าน  อีกทั้งเศรษฐกิจเล่าก็ตกต่ำอย่างรุนแรง  ในขณะที่แคว้นเยว่นั้นได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมาก  ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร  ชั่วระยะเวลาเพียงห้าปีก็มีความเข้มแข็งขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
ด้วยแรงยุยงส่งเสริมของป๋อผี่ผู้ได้รับอามิสสินจ้างจากแคว้นเยว่  ในที่สุดฟูไซก็ประทานกระบี่ให้หวู่จื่อซีฆ่าตัวตาย หลังจากที่หวู่จื่อซีพยายามคัดค้านการกระทำของหวู่อ๋องฟูไซอยู่ตลอดเวลาด้วยความสัตย์ซื่อ เมื่อสิ้นหวู่จื่อซีที่เปรียบเสมือนแขนขวาแล้ว ฐานะของฟูไซก็เริ่มง่อนแง่นและรอวันการล่มสลาย  ทั้งนี้เพราะหาคนคอยเตือนสติด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ได้อีกแล้ว
            ในปี พ.ศ.61 ฟูไซได้เดินทางไปชิงชัยตำแหน่งผู้นำหวางกับจิ้นหวางที่ตำบลหวงฉือ  เยว่หวางโกวเจี้ยนจึงฉวยโอกาสนี้ยกกองทัพเข้าตีแคว้นหวู่จนพินาศย่อยยับ  ต่อมาในปี พ.ศ. 70 แคว้นหวู่ก็ถูกผนวกเข้ากับแคว้นเยว่  นับเป็นความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงของฟูไซ  ในที่สุดฟูไซก็ถูกบีบบังคับให้ฆ่าตัวตาย โกวเจี้ยนจึงได้ขึ้นเป็นผู้นำแห่งหวาง(อ๋อง)ทั้งปวง  และล้างความอัปยศในอดีตได้สำเร็จ
ภายหลังจากที่แคว้นหวู่พินาศย่อยยับแล้ว  เรื่องราวของไชซีก็มีการเล่ากันหลายกระแส   แต่ที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นไปได้ก็คือ  ฟ่านหลีได้นำนางหนีไปครองรักกันอย่างมีความสุขในชนบท  ทั้งนี้เพราะนางและฟ่านหลีมีความรักต่อกันมาก่อนที่นางจะตัดสินใจเสียสละตนเองในครั้งนี้  ส่วนฟ่านหลีเองนั้นรู้ดีว่าหากนำนางกลับแคว้นเยว่ก็ยากยิ่งที่จะได้ครอบครองนาง  และไม่แน่ใจในสถานะของตนว่านับแต่นี้ไปจะมีความมั่นคงสักแค่ไหน
หลังจากที่ข่าวคราวของฟ่านหลีและไซซีเงียบหายไปนาน  ก็ได้มีจดหมายฉบับหนึ่งของฟ่านหลีที่เขียนถึงถึงเหวินจ้ง  ความตอนหนึ่งว่า“ล่ากระต่ายได้แล้ว  เขามักฆ่าหมาไล่เนี้อ  ประเทศคู่ศึกพินาศ  มักพิฆาตผู้วางแผน  ท่านจงรีบหนีไปจากแคว้นเยว่เถิด” แต่เหวินจ้งไม่เชื่อ ด้วยคิดว่าตนเองนั้นเป็นบุคคลที่โกวเจี้ยนให้ความไว้วางใจและประกอบความดีความชอบไว้มาก นับได้ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรงที่สุดของเหวินจ้งที่คิดเช่นนั้น  ทั้งนี้เพราะหลังจากนั้นอีกไม่นานนักโกวเจี้ยนก็ได้ประทานกระบี่ให้เหวินจ้งฆ่าตัวตาย  อันเป็นการตายที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่หวู่จื่อซีต้องตายเพราะแผนการของเหวินจ้งในครั้งกระโน้น หากจะกล่าวว่านี่คือ “ดาบนั้นคืนสนอง” ก็คงจะไม่ผิดพลาดมากนัก
ก่อนตาย เหวินจ้งเสียใจอย่างยิ่งที่มิเชื่อคำเตือนของฟ่านหลี  แต่เขาจะกระทำอย่างไรได้แล้วในเวลานั้น  นับว่าคำกล่าวของฟ่านหลีเป็นจริงอย่างยิ่ง และอาจนับเป็นสัจธรรมในวงการเมืองทุกยุคสมัยก็ว่าได้  เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วน มิเคยขาดหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่อาศัยเค้าเรื่องจากประวัติศาสตร์ในยุคนี้คือเรื่องนางพญาหน้าด่าง ซึ่งเป็นเรื่องในแบบนิยายมากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์  เนี้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ในรัชสมัยฉีซวนหวางแห่งแคว้นฉีในปลายยุคชุนชิว กล่าวถึงตัวเอก คือ “จุงอู่เหยียน”* หญิงสาวที่มีใบหน้าซีกหนึ่งสวยงามอีกซีกหนึ่งอัปลักษณ์แต่มีอิทธิฤทธิ์มาก  ตามเรื่องกล่าวว่านางเป็นเทพธิดาจุติมาเพื่อปกป้องเมืองฉีให้ปลอดภัยจากการกระทำของปีศาจเกัาหาง  ซึ่งขณะนั้นได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์และต่อมาก็ได้รับตำแหน่งเป็นพระสนมคนหนึ่งของฉีซวนหวางนั่นเอง
เนี้อเรื่องของนางพญาหน้าด่างนี้  แท้ที่จริงแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับนิยายเรื่อง “เจ็งฮองเฮา” ที่มีผู้เรียบเรียบเป็นภาษาไทยแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง เพียงแต่ลักษณะการเรียบเรียงเรื่องจีนในยุคนั้นมักจะมีการแต่งเพิ่มเติม  หรือมักจะใช้วิธีการแปลเอาความแล้วเรียบเรียงใหม่ตามความเดิม  โดยเพิ่มเรื่องราวให้พิสดารออกไป ดังนั้นรายละเอียดปลีกย่อยจึงแตกต่างกัน


“เจ็งฮองเฮา” ที่เป็นภาพยนตร์โทรทัศน์กับที่เป็นนิยายจึงเต็มไปด้วยเกร็ดและอิทธิปาฏิหาริย์โดยมีความจริงอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น เรื่องราวต่างๆ จึงยากที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงได้  แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น“ความจริง”ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ทั้งนี้เพราะเนี้อหาสาระของเรื่องนั้นอยู่ที่การใชัวิธีการต่างๆ ในอันที่จะแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์โดยไม่เคยมีใครคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมและคุณธรรมใดๆ ทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นความจริงของประวัติศาสตร์แห่งยุคที่มีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ใหญ่ตลอดเวลา ทั้งที่แย่งชิงกันเป็นใหญ่ของแต่ละแคว้น  และการแย่งชิงกันเป็นใหญ่กันเองภายในแคว้น ใครที่เข้มแข็งกว่าและมีกลยุทธ์ที่แนบเนียนหรือพลิกแพลงกว่าก็ย่อมที่จะเป็นฝ่ายชนะและฝ่ายถูกต้องในที่สุด
นางพญาหน้าด่างย่อมมิใช่ภาพยนตร์ที่มีเนี้อเรื่องตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เผยให้เห็นถึงสาระสำคัญของประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์แห่งยุคและประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติก็ว่าได้ ซึ่งนี่นับเป็นลักษณะสำคัญของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จีนที่ไม่ได้ติดอยู่กับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มิอาจยืนยันถึงความจริงแท้ได้ทั้งหมด ในขณะที่ตำราประวัติศาสตร์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลรายละเอียดที่น่าเชื่อถือว่าเป็นความจริง  นิยายหรือภาพยนตร์กำลังภายในกลับไม่ยึดติดอยู่กับข้อมูลรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงเหล่านั้น  แต่มักจะเน้นที่แก่นแท้ของความจริงอันเป็นลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์มากกว่า  ซึ่งลักษณะเช่นนี้มีปรากฏอยู่แทบทุกเรื่องดังที่จะได้กล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป



       *จุงอู๋เหยียนเป็นภาษาจีนกลางตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วว่า“เจ็งบ้อเอี่ยม”ซึ่งก็คือเจ็งฮองเฮานั่นเอง เจ็ง (หรือเจ็งลี่หรือจุงลี่) เป็นแซ่  บ้อแปลว่าไม่มี  เอี่ยมแปลว่าความงาม  รวมความแล้วน่าจะแปลว่านางแซ่เจ็งผู้อัปลักษณ์  ส่วนชื่อจริงของนางนั้นในภาษาจีนกลางว่าจงลี่ชุน หรือ เจ็งลี่ชุน-ในภาษาแต้จิ๋ว  ส่วนในเรื่องเลียดก๊กเรียกชื่อตามภาษาฮกเกี้ยนว่า “จงลีฉุน” เข้าใจว่าเมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี  ท่านคงจะได้ต้นแบบของนางวาลีมาจากจงลี่ชุนนี่เอง นอกจากนั้นนิทานพื้นบ้านเรื่องแก้วหน้าม้าที่มีตัวเอกของเรื่องคือนางแก้วหน้าม้า มีลักษณะเกือบจะเป็นพิมพ์เดียวกับนางจงลี่ชุน ก็มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะได้เคัามาจากเลียดก๊กเช่นกัน ทั้งนี้เพราะนิทานเรื่องนี้น่าจะแต่งและพิมพ์เผยแพร่ในยุค“หนังสือวัดเกาะ”ซึ่งเป็นเวลาหลังการแปล(พ.ศ.2362) และพิมพ์ (พ.ศ.2413) เรื่องเลียดก๊กแล้ว

ยุทธจักรชิงบัลลังก์มังกร 6

5 ศึกชิงเจ้าปฐพีปลายยุครณรัฐ การสัประยุทธ์ระหว่างฉินกับเจ้า ฉีและเว่ย ในปลายยุคจ้านกว๋อ การรบสู้ระหว่างแคว้นต่างๆ ยิ่งเข้มข้นข...